องคมนตรี ไปติดตามและขับเคลื่อนการดำเนินโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน

วันที่ 15 ม.ค. 2568 เวลา 20:06 น.

นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินทางไปยังโครงการพระราชดำริปางตอง 2 (ปางอุ๋ง) อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน โอกาสนี้ ร่วมกับมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เชิญสิ่งของพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ไปมอบแก่ราษฎร ได้แก่ เสื้อกันหนาวเด็ก, ถุงพระราชทานแก่ราษฎรบ้านรวมไทย, ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่โครงการพระราชดำริปางตอง 1-4 จากนั้น เยี่ยมชมผลผลิตและผลิตภัณฑ์ ซึ่งศูนย์บริการและพัฒนาที่สูงปางตอง ตามพระราชดำริ ส่งเสริมอาชีพให้ราษฎรมีรายได้ อาทิ กาแฟพันธุ์อะราบิกา, เพาะเห็ดนางรม, ปักผ้าชนเผ่าประยุกต์, ปักผ้าชาววัง จากกลุ่มศิลปาชีพฯ, ปักผ้าชนเผ่าม้ง, กลุ่มผ้าทอขนแกะ, การเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์เขียดแลวแบบธรรมชาติตามพระราชเสาวนีย์ เพื่อให้มีอาหารโปรตีนบริโภค รวมทั้งอนุรักษ์สัตว์ป่าท้องถิ่น เช่น ชะนี และเก้ง แล้วร่วมประชุมติดตามการดำเนินโครงการพระราชดำริปางตอง 2 (ปางอุ๋ง )ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์บริการและพัฒนาที่สูงปางตอง ตามพระราชดำริ ในปี 2523 เพื่อผลิตและส่งเสริมการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์เมืองหนาวให้หมู่บ้านเป้าหมาย โดยโครงการพระราชดำริปางตอง 2 (ปางอุ๋ง) มีภารกิจในการฟื้นฟูป่า ปรับปรุงระบบนิเวศ พัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎร โดยฟื้นฟูป่าเกือบ 9,000 ไร่, อนุรักษ์และป้องกันป่า 25,000 ไร่, น้ำแม่สะงา มีน้ำไหลตลอดทั้งปี ทำให้โรงไฟฟ้าพลังน้ำแม่สะงา ผลิตไฟฟ้าได้ต่อเนื่อง ปัจจุบัน เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัด รู้จักกันในนาม "ปางอุ๋ง" ในตอนบ่าย ไปติดตามการดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยปางตอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริว่า "พื้นที่ภายในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน ส่วนใหญ่เป็นภูเขา พื้นที่ที่จะใช้ทำการเพาะปลูกมีน้อย ทำให้ราษฎรส่วนใหญ่ขาดแคลนข้าว จึงเห็นสมควรดำเนินการพัฒนาการเกษตรให้ดียิ่งขึ้น" โดยปี 2527 ได้เสด็จพระราชดำเนินมาประทับแรม ณ เรือนประทับแรมปางตอง มีพระราชดำริว่าพื้นที่นี้ การบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า ประมาณ 2,000 ไร่ สภาพป่าไม่สามารถฟื้นตัวเองตามธรรมชาติ หากปล่อยไว้จะมีผลเสียหาย ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และนิเวศวิทยา กรมชลประทาน ได้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยปางตอง (ปางอุ๋ง) เพื่อสนับสนุนศูนย์บริการและพัฒนาที่สูงปางตอง รวมทั้งพื้นที่บริเวณศูนย์ฯ แล้วเสร็จเมื่อปี 2528 เป็นทำนบดิน มีพื้นที่รับน้ำ 4 ตารางกิโลเมตร สามารถส่งน้ำสนับสนุนพื้นที่เพาะปลูก 1,200 ไร่ สนับสนุนโครงการไฟฟ้าพลังน้ำให้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้า และเพื่อการอุปโภค-บริโภค จากนั้น เดินทางไปยังฐานปฏิบัติการปางโยน เชิญถุงพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ไปมอบแก่ผู้ปฏิบัติงาน ได้แก่ กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 336 และหน่วยเฉพาะกิจสิงหนาท เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ ฐานฯ แห่งนี้ อยู่ติดเขตรัฐคะยา ประเทศเมียนมา มีพื้นที่รับผิดชอบหน้าแนวชายแดนไทย-เมียนมา ประมาณ 15 กิโลเมตร มีภารกิจเฝ้าตรวจ แจ้งเตือน รั้งหน่วง ป้องกันการรุกล้ำอธิปไตย ลาดตระเวนพิสูจน์ทราบ หาข่าว รักษาความสงบเรียบร้อยป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมตามแนวชายแดน สกัดกั้นการลักลอบเข้าเมืองของบุคคลต่างด้าว และสิ่งของผิดกฎหมาย