อายุ 40+ เสี่ยง "พาร์กินสัน" รพ.จุฬาฯ จับมือ สภากาชาดไทย เปิดตัวแอปพลิเคชัน "Check PD"
วันที่ 15 ม.ค. 2568 เวลา 16:07 น.
"พาร์กินสัน" เป็น 1 ในโรคที่มีอัตราผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น และเป็นกันโดยไม่รู้ตัว โรงพยาบาลจุฬาฯ และสภากาชาดไทย เปิดตัวแอปพลิเคชัน "Check PD" เพื่อเป็นตัวช่วยในการตรวจหาความเสี่ยง ชี้ มีความแม่นยำสูงถึง 90% (15 ม.ค.68) ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย ยิ่งนานวัน ผู้สูงอายุก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นทุกปี สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือเรื่องสุขภาพ จากสถิติพบว่าคนไทยเป็นโรคพาร์กินสันเพิ่มสูงขึ้น และยังพบในคนอายุต่ำกว่า 60 ปี และคาดว่าภายในปี 2040 จำนวนผู้ป่วยโรคพาร์กินสันในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว จากปัจจัยเสี่ยงเรื่องอายุที่มากขึ้นและปัจจัยทางพันธุกรรม พฤติกรรมการใช้ชีวิตและสิ่งแวดล้อม นอกจากผู้สูงอายุที่ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงหลักแล้ว ในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ก็ถือเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความเสี่ยงด้วยเช่นกัน จากสถิติที่พบว่าปัจจุบันแนวโน้มผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน พบในผู้ป่วยอายุน้อยลง ศ.นพ.รุ่งโรจน์ พิทยศิริ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันและกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า โรคพาร์กินสัน จะไม่แสดงอาการออกมาในทันทีและมีระยะเวลาการเตือนค่อนข้างนาน ใช้เวลา 10-20 ปี แต่อาการที่จะเห็นได้ชัดเลย คือ อาการหนาวสั่น อาการท้องผูกเรื้อรัง อาการนอนละเมอออกท่าทางหรือออกเสียงที่สัมพันธ์กับเนื้อหาความฝัน ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวมักถูกมองว่าไม่ใช่อาการผิดปกติ ทำให้กว่าจะรู้ตัวก็รักษาได้ยากแล้ว อาการของโรคพาร์กินสัน ส่งผลให้การใช้ชีวิตของผู้ป่วยเป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะพาร์กินสันเป็นโรคเกี่ยวกับความผิดปกติในการทรงตัว ผู้ที่มีอาการมาก จะเคลื่อนไหวด้วยตัวเองลำบาก มีความจำเป็นต้องต้องมีผู้ดูแล ดังนั้นหากสามารถตรวจเช็กได้ล่วงหน้าถึงความเสี่ยงที่จะเป็นโรคดังกล่าว เพื่อหาทางป้องกัน หรือลดความรุนแรงของอาการได้ จะเป็นเรื่องดีสำหรับผู้ป่วย เพราะพาร์กินสันเป็นโรคที่ป้องกันและรักษาได้หากตรวจพบได้เร็ว โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จับมือกับสภากาชาดเปิดตัว "Check PD" แอปพลิเคชัน ที่จะเข้ามาช่วยวิจัยกลุ่มอาการโรคพาร์กินสัน ซึ่งได้รับการพัฒนาขึ้นมา เพื่อช่วยให้ผู้ที่มีความเสี่ยงสามารถวางแผนดูแลสุขภาพ การป้องกันและการรักษาได้อย่างเหมาะสม เพื่อจะไปคุณภาพชีวิตที่ดีและยั่งยืน โดยการตรวจ ความเสี่ยงจะใช้เวลาประมาณ 25 นาที ในการทำแบบประเมินความเสี่ยง 20 ข้อ ซึ่งการเช็คมีทั้งการตอบคำถาม การทดสอบเหยียบนิ้ว การทดสอบอาการสั่น การทดสอบการทรงตัวและการทดสอบการออกเสียง หลังจบทุกขั้นตอนการเช็คแล้ว สามารถกดรับผลในแอพพลิเคชั่นได้ในทันทีทั้งนี้ยังมีความแม่นยำสูงถึง 90% หากผลตรวจของใครพบว่ามีความเสี่ยง ควรปรึกษาแพทย์ทันที