อุทาหรณ์สายซอยจุ๊ พยาธิตืดวัวยาวทะลุออกจากลำคอ
วันที่ 15 ม.ค. 2568 เวลา 09:16 น.
อุทาหรณ์สายซอยจุ๊ กินดิบ พยาธิตืดวัวยาวทะลุออกจากลำคอ ย้ำเตือนถึงอันตรายจากการกินอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ อุทาหรณ์สายซอยจุ๊ เรื่องราวที่ได้รับการเปิดเผยจากเพจอีซ้อขยี้ข่าว : อีซ้อ ซึ่งนำคลิปภาพผู้ป่วยที่มาเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง คุณหมอได้ใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์สอดท่อ และคีบดึงพยาธิตืดวัวออกจากปากของผู้ป่วย โดยคุณหมอใช้เวลาคืบพยาธิอยู่นานพอสมควร และพบว่าพยาธิตืดวัวที่ดึงออกจากปากของคนไข้ท่านนี้มีความยาวหลายเมตร เคสนี้จึงถูกหยิบยกมานำเสนอเพื่อเป็นอุทาหรณ์ของการกินเนื้อสัตว์ดิบ คนชอบกินดิบ พวกซอยจุ๊ ซกเล็ก ลาบดิบ ถ้าเป็นพยาธิตืดวัวจะมีความยาว 5-10 เมตร ถ้าพยาธิตืดหมู 2-4 เมตร เคสนี้พยาธิยาวจนทะลุออกมาจากลำคอ ศูนย์วิจัยโรคปรสิต เคยให้ข้อมูลเกี่ยวกับพยาธิตืดวัว (Taenia saginata) ติดต่อผ่านการบริโภคเนื้อวัวดิบหรือปรุงไม่สุกที่มีถุงตัวอ่อนของพยาธิ (cysticercus) ปนเปื้อน ซึ่งมักเกิดจากการบริโภคอาหารที่ไม่ได้ผ่านการปรุงสุกเพียงพอ เช่น เนื้อย่างสุก ๆ ดิบ ๆ หรือสเต็กที่ไม่สุกกลาง รวมถึงการสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่มีการปนเปื้อนของไข่พยาธิ เช่น อุจจาระมนุษย์ในพื้นที่เลี้ยงวัว ผู้ติดเชื้อพยาธิตืดวัวส่วนใหญ่อาจไม่มีอาการชัดเจน แต่ในบางกรณีอาจแสดงอาการ ดังนี้ 1. อาการทางเดินอาหาร ปวดท้อง คลื่นไส้ ท้องอืด หรือท้องเสีย เบื่ออาหารหรือหิวบ่อย 2. อาการทั่วไป อ่อนเพลีย น้ำหนักลด รู้สึกไม่สบายตัว 3. ปล้องพยาธิหลุดออกมา จะพบปล้องพยาธิในอุจจาระ หรือหลุดออกจากทวารหนัก การตรวจวินิจฉัย การตรวจอุจจาระ หาไข่พยาธิหรือปล้องพยาธิในอุจจาระด้วยกล้องจุลทรรศน์ รวมถึงการเก็บประวัติ สอบถามประวัติการรับประทานเนื้อวัวดิบหรือสุก ๆ ดิบ ๆ ตลอดจนการตรวจปล้องพยาธิ แยกชนิดของพยาธิจากปล้องพยาธิที่พบ สำหรับการรักษา สามารใช้ยาถ่ายพยาธิตามคำแนะนำของแพทย์ เช่น Praziquantel ขนาดยา 5-10 มก./กก. ให้รับประทานครั้งเดียว หรือ Niclosamide ยานี้ออกฤทธิ์เฉพาะในลำไส้ โดยฆ่าพยาธิโดยไม่ดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย หลังการรักษาแพทย์จะติดตามอาการ โดยตรวจอุจจาระอีกครั้งหลังการรักษา 1-3 เดือน เพื่อยืนยันว่าพยาธิถูกกำจัดหมด เพื่อการป้องกัน คุณหมอแนะนำให้รับประทานเนื้อที่ปรุงสุก ปรุงเนื้อวัวให้สุกที่อุณหภูมิ 63 องศาเซลเซียสขึ้นไป รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล ล้างมือก่อนรับประทานอาหารและหลังใช้ห้องน้ำ ควบคุมการเลี้ยงสัตว์เพื่อป้องกันการปนเปื้อนอุจจาระมนุษย์ในแหล่งเลี้ยงวัว พยาธิตืดวัวแม้จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตในกรณีทั่วไป แต่หากไม่รักษา อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น การอุดตันลำไส้ ควรปรึกษาแพทย์ทันทีหากสงสัยว่ามีการติดเชื้อ