สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงบรรยายพิเศษ เรื่อง กลไกการเกิดโรคมะเร็ง หรือ Oncogenesis เป็นวันที่ 2
วันที่ 14 ม.ค. 2568 เวลา 20:07 น.
เวลา 12.15 น. วันนี้ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จไปยังอาคารวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ทรงบรรยายพิเศษ เรื่อง กลไกการเกิดโรคมะเร็ง (Oncogenesis) เป็นวันที่ 2 พระราชทานแก่คณาจารย์ นักวิชาการ และนักศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ชั้นปีที่ 3 คณะแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ในหัวข้อ อองโคยีน (Oncogene) หรือ ยีนมะเร็งและการควบคุมการเจริญเติบโตของเซลล์ และยีนยับยั้งการเกิดมะเร็ง และการควบคุมวัฏจักรของเซลล์ โรคมะเร็ง เกิดจากการกลายพันธุ์ของเซลล์ที่แบ่งตัว และเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วจนไม่สามารถควบคุมได้ และเกิดจากไวรัสที่แทรกแซงเข้าไปในเซลล์และเข้าควบคุมการทำงานของยีนในเซลล์ที่ปกติ จากการศึกษาวิจัยในระดับโมเลกุลพบว่าการกลายพันธุ์ของยีน การแทรกแซงของยีน หรือการแลกเปลี่ยนชิ้นส่วนของโครโมโซม สามารถเพิ่มการแสดงออกของยีนมะเร็ง ในสภาวะปกติเซลล์จะถูกควบคุมให้มีการเจริญเติบโตในอัตราที่เหมาะสม เมื่อมีการแสดงออกของยีนมะเร็งที่สูงกว่าปกติ เซลล์จะถูกกระตุ้นให้แบ่งตัวเร็วขึ้น และต่อต้านกระบวนการตายของเซลล์ นอกจากยีนมะเร็งแล้ว ยังมียีนยับยั้งการเกิดมะเร็งหลายชนิดที่ทำหน้าที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของมะเร็งแตกต่างกัน เช่น ยีน p53 ที่สร้างโปรตีนจำเพาะ ทำหน้าที่ตรวจจับความผิดปกติทางพันธุกรรม จากการศึกษาพบว่า การกลายพันธุ์ของยีน p53 มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งหลอดอาหารและมะเร็งลำไส้ นอกจากนี้ การกลายพันธุ์ของยีนที่ทำหน้าที่ควบคุมวัฏจักรของเซลล์ อาจก่อให้เกิดมะเร็งผ่านกระบวนการต่อต้านการทำลายตัวเองแบบอัตโนมัติ ซึ่งการกลายพันธุ์นี้อาจเกิดจากกรรมพันธุ์ หรือถูกกระตุ้นจากปัจจัยภายนอก