พ่อแม่เฮ! รับเงินสงเคราะห์บุตร 1,000 บาท เช็กเริ่มจ่ายวันไหน ?
วันที่ 14 ม.ค. 2568 เวลา 10:41 น.
พ่อแม่ผู้ประกันตนเฮ ! รับเงินสงเคราะห์บุตรอัตราใหม่ 1,000 บาท ยื่นขอรับสิทธิอย่างไร เริ่มจ่ายวันไหน เช็กรายละเอียดที่นี่ เงินสงเคราะห์บุตร 1,000 บาท ข่าวดีต้อนรับปีใหม่พ่อแม่ที่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 หรือ มาตรา 39 โดยสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ปรับเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรรายเดือนจาก 800 บาท เป็น 1,000 บาทต่อเดือน/บุตร 1 คน สูงสุดไม่เกิน 3 คนต่อครอบครัว สำหรับบุตรตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 6 ปีบริบูรณ์ เริ่มตั้งแต่มกราคม 2568 เป็นต้นไป โดยเงินสงเคราะห์บุตร จะโอนเข้าบัญชีธนาคารให้ผู้ประกันตน ตามการเกิดสิทธิดังนี้ -สิทธิในเดือน มกราคม จะได้รับเงินในเดือน เมษายน -สิทธิในเดือน กุมภาพันธ์ จะได้รับเงินในเดือน พฤษภาคม -สิทธิในเดือน มีนาคม จะได้รับเงินในเดือน มิถุนายน -สิทธิในเดือน เมษายน จะได้รับเงินในเดือน กรกฎาคม -สิทธิในเดือน พฤษภาคม จะได้รับเงินในเดือน สิงหาคม -สิทธิในเดือน มิถุนายน จะได้รับเงินในเดือน กันยายน -สิทธิในเดือน กรกฎาคม จะได้รับเงินในเดือน ตุลาคม -สิทธิในเดือน สิงหาคม จะได้รับเงินในเดือน พฤศจิกายน -สิทธิในเดือน กันยายน จะได้รับเงินในเดือน ธันวาคม -สิทธิในเดือน ตุลาคม จะได้รับเงินในเดือน มกราคม (ปีถัดไป) -สิทธิในเดือน พฤศจิกายน จะได้รับเงินในเดือน กุมภาพันธ์ (ปีถัดไป) -สิทธิในเดือน ธันวาคม จะได้รับเงินในเดือน มีนาคม (ปีถัดไป) สำหรับเงื่อนไขการรับสิทธิเงินสงเคราะห์บุตร จะต้องเป็นผู้ประกันตน ประกันสังคมมาตรา 33 และมาตรา 39, จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน และมีบุตรไม่เกินครั้งละ 3 คน บุตรต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย โดยผู้ประกันตนที่มีบุตรสามารถยื่นขอรับเงินสงเคราะห์บุตร 1,000 บาท ได้ ซึ่งจะโอนเข้าบัญชี ผ่านระบบพร้อมเพย์ทุก ๆ สิ้นเดือน โดยมีรายละเอียดดังนี้ หลักเกณฑ์และเงื่อนไข -ต้องเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือ มาตรา 39 -จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน ก่อนเดือนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน สิทธิที่ท่านจะได้รับเงินสงเคราะห์บุตรเหมาจ่ายเดือนละ 800 บาทต่อบุตรหนึ่งคน -ต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ยกเว้น บุตรบุญธรรมหรือบุตรซึ่งยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่น -อายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จำนวนคราวละไม่เกิน 3 คน เว้นแต่ผู้ประกันตนเป็นผู้ทุพพลภาพหรือถึงแก่ความตาย ในขณะที่บุตรมีอายุแรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนต่อจนอายุ 6 ปีบริบูรณ์ ขั้นตอนยื่นขอรับเงินสงเคราะห์บุตรผ่านเว็บไซต์ประกันสังคม 6 ขั้นตอน ดังนี้ 1.เข้าไปที่เว็บไซต์ประกันสังคม www.sso.go.th 2.ใส่รหัสเพื่อเข้าสู่ระบบ/หรือสมัครสมาชิก (หากยังไม่เคยสมัครสมาชิก) -กรอกรหัสผู้ใช้งาน (เลขบัตรประจำตัวประชาชน) -กรอกรหัสผ่านผู้ใช้งาน 3.หลังเข้าระบบสำเร็จ ให้ผู้ประกันตนเลือกไปที่เมนูยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนด้วยตนเอง (e-Self Service) 4.จากนั้นให้ผู้ประกันตนเลือกไปที่เมนู "ขอรับประโยชน์ทดแทนกองทุน" 5.จากนั้นผู้ประกันตนเลือก "สงเคราะห์บุตร " 6.ให้ผู้ประกันตนกรอกข้อมูลตามที่ระบบระบุไว้ให้ถูกต้องครบถ้วน รวมถึงอัปโหลดเอกสารลงในระบบได้เลย ขั้นตอนยื่นด้วยตัวเองที่สำนักงานประกันสังคม 1.ผู้ประกันตนต้องกรอกแบบ สปส.2-01 พร้อมลงลายมือชื่อและนำมายื่นที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขา หรือยื่นขอรับทางไปรษณีย์โดยมีหลักฐานครบถ้วน (กรณีผู้ประกันตนยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตรสำหรับบุตร 3 คน ในคราวเดียวกันสามารถใช้แบบคำขอฯ ชุดเดียวกันได้) 2.เจ้าหน้าที่ตรวจหลักฐานและพิจารณาอนุมัติ 3.สำนักงานประกันสังคมมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณา 4.พิจารณาสั่งจ่าย จ่ายเป็นรายเดือนโดยโอนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์ของผู้ขอรับประโยชน์ทดแทน หลักฐานที่ต้องใช้ในการยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร 1.แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกองทุนประกันสังคม (สปส. 2-01) 2.กรณี ผู้ประกันตนเคยยื่นใช้สิทธิแล้ว และประสงค์จะใช้สิทธิสำหรับบุตรคนเดิม ให้ใช้หนังสือขอใช้สิทธิบุตรคนเดิมกรณีกลับเข้าเป็นผู้ประกันตน จำนวน 1 ฉบับ 3.กรณีผู้ประกันตนหญิงใช้สิทธิ 3.1สำเนาสูติบัตรบุตร (กรณีคลอดบุตรแฝดให้แนบสำเนาสูติบัตรของคู่แฝดด้วย) จำนวน 1 ชุด 4.กรณีผู้ประกันตนชายใช้สิทธิ 4.1 สำเนาทะเบียนสมรส หรือสำเนาทะเบียนหย่าพร้อมบันทึกแนบท้ายของผู้ประกันตนหรือสำเนาทะเบียนรับรองบุตร หรือสำเนาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย จำนวน 1 ชุด 4.2 สำเนาสูติบัตรบุตร (กรณีคลอดบุตรแฝดให้แนบสำเนาสูติบัตรของคู่แฝดด้วย จำนวน 1 ชุด) 5.กรณีเปลี่ยนชื่อ ชื่อ - สกุล ให้แนบสำเนาเอกสารใบเปลี่ยนชื่อ ชื่อ - สกุลด้วย จำนวน 1 ชุด 6.กรณีผู้ประกันตนต่างชาติขอรับประโยชน์ทดแทนให้ใช้สำเนาบัตรประกันสังคม และสำเนาหนังสือเดือนทาง (passport) หรือสำเนาหนังสือเดินทางชั่วคราวหรือเอกสารรับรองบุคคลที่ทางราชการออกให้ จำนวน 1ชุด 7.สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรกที่มีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ยื่นคำขอ จำนวน 1 ฉบับ 8.เอกสารประกอบการยื่นคำขอฯ ที่เป็นสำเนาให้รับรองความถูกต้องของสำเนาทุกฉบับ และแสดงเอกสารที่เป็นต้นฉบับเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ขอตรวจสอบ กรณี เอกสารหลักฐานสำคัญต่อ การพิจารณาเป็นภาษาต่างประเทศให้จัดทำคำแปลเป็นภาษาไทยและรับรองความถูกต้องให้ครบถ้วน 9.ยื่นได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขา ที่สะดวก (ยกเว้นสำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข) ทั้งนี้ผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 สามารถยื่นเรื่องรับสิทธิภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่มีสิทธิ และได้รับถึงเมื่อบุตรอายุ 6 ปีบริบูรณ์เท่านั้น โดยต้องส่งเงินสมทบไม่ต่ำกว่า 12 เดือน ตลอดระยะเวลา 36 เดือนก่อนคลอด จึงจะได้รับสิทธิ กรณีผู้ประกันตนชายมาตรา 33, 39 ประกันสังคมให้สิทธิ รับสิทธิประโยชน์เงินสงเคราะห์บุตรแทนภรรยาที่ไม่ใช่ผู้ประกันตน ด้วย โดยคุณพ่อที่จดทะเบียนสมรสกับภรรยา หรือจดทะเบียนรับรองบุตรว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย และจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน สามารถขอรับเงินสงเคราะห์บุตร 1,000 บาทได้ ตั้งแต่บุตรแรกเกิดจนถึงอายุ 6 ปีบริบูรณ์ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการหมดสิทธิรับเงินสงเคราะห์บุตร -บุตรอายุครบ 6 ปีบริบูรณ์ -ตัวบุตรเสียชีวิต -ได้ยกบุตรให้เป็นบุตรบุญธรรมของคนอื่น -สิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคม คาดว่าในเดือนมกราคม 2568 จะมีบุตรของผู้ประกันตน ดังกล่าว ได้รับสิทธิ กรณีสงเคราะห์บุตรประมาณ 1.2 ล้านคน โดยตลอดระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมา มีการปรับขึ้นเงินอุดหนุนบุตร 6 ครั้ง ล่าสุดเมื่อปี 2564 อยู่ที่ 800 บาทต่อเดือน โดยการปรับขึ้นเป็นเดือนละ 1,000 บาท ในครั้งนี้จะใช้งบประมาณเพิ่มปีละ 3,225 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.sso.go.th หรือโทรสายด่วน 1506 ให้บริการทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง