องคมนตรี เชิญถุงพระราชทานใน โครงการสืบสานพระราชปณิธานงานโครงการหลวง ไปมอบแก่เจ้าหน้าที่ พร้อมติดตามการดำเนินงาน ที่จังหวัดเชียงราย

วันที่ 10 ม.ค. 2568 เวลา 20:08 น.

พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี เลขาธิการและประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เดินทางไปยังศูนย์พัฒนาโครงการหลวงผาตั้ง อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย เชิญถุงพระราชทานใน "โครงการสืบสานพระราชปณิธานงานโครงการหลวง" ไปมอบแก่ผู้ปฏิบัติงาน และสมาชิกเกษตรกร รวม 92 คน เพื่อเป็นกำลังใจ สนองพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ราษฎรบนพื้นที่สูง พร้อมประชุมติดตามการดำเนินงาน ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อปี 2550 บนเทือกเขาดอยผาหม่น แนวแบ่งเขตไทย-ลาว ปัจจุบัน พัฒนางานในมิติต่าง ๆ ครอบคลุม 3 หมู่บ้าน 1 กลุ่มบ้าน 763 ครัวเรือน ประกอบด้วย กลุ่มชาติพันธุ์ม้ง, เมี่ยน, จีนยูนนาน และคนเมือง ประกอบอาชีพเกษตรเป็นหลัก สามารถปลูกพืชผัก ไม้ผลและไม้ดอกเมืองหนาว รวมทั้งชา กาแฟ และสมุนไพร ภายใต้ระบบมาตรฐานอาหารปลอดภัย มีพื้นที่ส่งเสริมกว่า 633 ไร่ สามารถสร้างรายได้ และความเป็นอยู่ที่ดีแก่เกษตรกร ในปี 2567 สร้างรายได้มากกว่า 7.9 ล้านบาท นอกจากนี้ ส่งเสริมการแปรรูปผลผลิต และงานหัตถกรรมผ้าปักลายม้งโบราณ ที่มีมากว่า 100 ปี ซึ่งมีสีสันสวยงาม โดยเฉพาะผ้าปักของชนเผ่าม้งบ้านศิลาแดง เป็นลวดลายธรรมชาติ เช่น ลายก้นหอย และลายดอกไม้ ในตอนบ่าย เดินทางไปศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยแห้ง อำเภอเวียงแก่น เชิญถุงพระราชทานใน "โครงการสืบสานพระราชปณิธานงานโครงการหลวง" ไปมอบแก่เจ้าหน้าที่ และสมาชิกเกษตรกร รวม 91 คน พร้อมเชิญพระราชกระแสความห่วงใยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ไปกล่าวให้ผู้ปฏิบัติงานและราษฎรได้รับทราบ จากนั้น ประชุมติดตามการดำเนินงานของศูนย์ฯ ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อ ปี 2542 เพื่อส่งเสริมอาชีพ พัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎร รวมทั้งฟื้นฟูและอนุรักษ์สภาพแวดล้อม มีพื้นที่ดูแลครอบคลุม 11 หมู่บ้าน 1,982 ครัวเรือน ประกอบด้วย กลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อ, ม้ง, ขมุ และเมี่ยน    ปัจจุบันดำเนินงานพัฒนาและส่งเสริมอาชีพ โดยเพาะปลูกพืชผักภายใต้ระบบมาตรฐานอาหารปลอดภัย รวมทั้งทดลองและวิจัยพืชเมืองหนาวที่ได้รับความนิยม อาทิ มันเทศญี่ปุ่นสีส้ม, พริกเม็กซิกัน และเมลอนญี่ปุ่น เมื่อสำเร็จแล้วจะนำไปส่งเสริมแก่เกษตรกร นอกจากนี้ ยังส่งเสริม ฟื้นฟู เพื่ออนุรักษ์งานหัตถกรรม เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น สร้างความเข้มแข็งของคนชุมชน และในโรงเรียน โดยให้เยาวชนเข้าไปเรียนรู้งานโครงการหลวง ปลูกผักเป็นอาหารกลางวันในโรงเรียน และส่งเสริมการปลูกป่าตามแนวพระราชดำริ ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง, การทำแนวป้องกันไฟป่า ในปี 2567 สามารถลดปริมาณจุด Hotspot ได้ 31 จุด คิดเป็นร้อยละ 58 เมื่อเทียบกับปี 2566