ขัง 84 วัน “บอสมิน-บอสเเซม” ไม่ใช่ “ติดคุกฟรี” เป็นขั้นตอนขังระหว่างสอบสวนตามกฎหมาย

วันที่ 10 ม.ค. 2568 เวลา 16:55 น.

ไม่ใช่ “ติดคุกฟรี” ศาลอาญาปล่อย “บอสมิน-บอสเเซม” หลังขัง 84 วัน เป็นขั้นตอนขังระหว่างสอบสวนตามกฎหมาย กรณีอัยการสั่งไม่ฟ้อง ชี้ ยังไม่ได้ถูกชี้ผิดถูกในศาล ขณะที่กฎหมายเปิดให้ถ่วงดุลอำนาจสั่งไม่ฟ้อง วันนี้ (10 ม.ค.68) แหล่งข่าวจากจากศาลยุติธรรม ให้ความเห็นกรณีมีบุคคลออกมาโพสต์ถึงการที่ศาลอาญามีคำสั่งปล่อยตัว น.ส.พีชญา หรือ "บอสมิน" และ นายยุรนันท์ "บอสแซม" โดยใช้คำว่า “ขังฟรี” ว่า กรณีที่ศาลอาญามีหมายปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งสองเป็นไปตามกฎหมาย เนื่องจากพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี และอัยการยื่นคำร้องต่อศาลอาญาขอให้ปล่อยตัวผู้ต้องหา เพราะเหตุสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา ศาลจึงออกหมายปล่อยตัว ในชั้นนี้ผู้ต้องหาทั้งสองจึงถูกปล่อยตัวโดยยังไม่มีการพิจารณาคดีหรือสืบพยานในชั้นศาลว่าได้กระทำผิดหรือไม่ การปล่อยตัวกรณีดังกล่าวเกิดจากดุลพินิจในกระบวนการยุติธรรมขั้นต้นโดยอัยการสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้งสองคน ขั้นตอนทางกฎหมายจะมีหลักการทางกฎหมายในการตรวจสอบเพื่อถ่วงดุลอำนาจสั่งไม่ฟ้องของอัยการ โดยอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษในฐานะพนักงานสอบสวนจะมีอำนาจทำความเห็นแย้งเสนออัยการสูงสุดชี้ขาดให้ฟ้องคดี หากอัยการสูงสุดชี้ขาดให้ฟ้องคดี ผู้ต้องหาทั้งสองคนก็จะกลับเข้าสู่กระบวนพิจารณาของศาล และตกเป็นจำเลยเช่นเดียวกับผู้ต้องหาที่อัยการสั่งฟ้องก่อนหน้านี้ คดีของผู้ต้องหาทั้งสองคนก็จะต้องขึ้นสู่การพิจารณาของศาล จึงอยากให้ใจเย็น ๆ เรื่องนี้ไม่ใช่การขังฟรีตามที่มีบุคคลกล่าว ส่วนที่มีบุคคลกล่าวว่า “แม้ศาลชั้นต้นยกฟ้องแล้ว ก็ยังสั่งขังต่อไปได้ ตราบใดที่คดียังไม่ถึงที่สุด” ตรงนี้จะใช้ในกรณีที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์ เพราะเหตุสงสัย หรือที่เรียกว่ายกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย หากศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าแม้ยกฟ้องเพราะยกประโยชน์แห่งความสงสัย แต่หากปล่อยตัวจำเลยอาจเกิดความเสียหาย จำเลยมีพฤติการณ์ที่หากยกฟ้องแล้วให้ปล่อยตัวจำเลยไป จำเลยอาจจะหลบหนี หากคดีมีการอุทธรณ์ หรือฎีกา กฎหมายจึงให้อำนาจศาลใช้ดุลพินิจมีคำสั่งขังจำเลยไว้ระหว่างอุทธรณ์ ฎีกาได้ ตรงนี้กฎหมายให้อำนาจไว้ ไม่ใช่การขังฟรี