กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากไวรัส พบได้ทั่วโลก ไม่มีมีการะบาด
วันที่ 9 ม.ค. 2568 เวลา 09:27 น.
กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากไวรัส พบได้ทั่วโลก ไม่มีมีการะบาด หมอยงบอกถึงแนวทางการรักษา พร้อมแนะวิธีรับมือ ไม่ต้องวิตกกังวลเกินเหตุ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากไวรัส วันนี้ (9 ม.ค.68) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์จุฬา เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงไวรัสที่ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ แล้ว อาการแทรกซ้อนที่สำคัญ คือเกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจ และหรือสมอง หมอยง ระบุด้วยว่า ไวรัสที่เป็นสาเหตุของการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจ ที่เป็นอาการแทรกซ้อน พบได้เช่น enterovirus ตัวที่พบบ่อยได้แก่ enterovirus-A71 Coxsackie B, Echo virus ไวรัสในกลุ่มอินเทอร์ไวรัสมีเป็นจำนวนมากนับเป็นร้อยชนิด จะจัดรวมไวรัสที่ทำให้เกิดโรคมือเท้าปาก และอาจมีอาการแทรกซ้อนทางสมอง และหัวใจได้ แต่โอกาสที่จะเกิดน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นในเด็กเล็ก มากกว่าเด็กโต นอกจากนี้ยังมีไวรัสที่ทำให้เกิดโรคที่เรารู้จักกันดีทั่วไป ก็อาจจะเกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจหรือสมองได้ เช่น ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก โรคหัด สุกใส etc. ก็มีโอกาสเกิดได้แต่โอกาสนั้นอาจจะเป็นหนึ่งในหมื่น ในแสนของผู้ป่วย ในกลุ่มของ enterovirus ที่มีจำนวนมาก และมีหลายตัวทำให้เกิดโรคมือเท้าปาก จะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ สมองอักเสบได้ เช่น enterovirus A71, Coxsackie B Echovirus การติดเชื้อ มีเพียงส่วนน้อยมากที่จะมีอาการแทรกซ้อนดังกล่าว ส่วน EV-A71 การเกิดสมองอักเสบหรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ถ้าเด็กเล็กต่ำกว่า 1 ปี ถ้าติดเชื้อจะมีโอกาสเกิด 1 ใน 100 แต่ถ้าเด็กต่ำกว่า 3 ขวบ จะมีโอกาสเกิด 1 ใน 300 และโอกาสจะเกิดน้อยลงไปเรื่อย ๆ ตามอายุที่มากขึ้น ส่วนไวรัสอื่น ๆ โอกาสเกิด จะเป็น 1 ใน 10,000 หรือ 1 ใน 100,000 ของผู้ติดเชื้อ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ จากไวรัส ส่วนใหญ่มักจะเกิดในเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็กมากกว่าเด็กโตหรือผู้ใหญ่ อาการที่สำคัญจะมีอาการเบื้องต้นเหมือนกับการติดเชื้อไวรัสทั่วไป เช่นเป็นไข้ เพลีย ไม่กินอาหาร และต่อมาจะอ่อนแรง หายใจเร็ว เหนื่อยหอบ เพราะเริ่มมีอาการของหัวใจวาย การตรวจวินิจฉัยของแพทย์ จะตรวจเลือดเพื่อดู cardiac enzyme การเต้นของหัวใจ ซึ่งจะบอกได้จากการทำ ตรวจหัวใจด้วยไฟฟ้า EKG, Echocardiogram แรงบีบของหัวใจจะน้อยลง ทำให้มีการขยายโตของหัวใจ การตรวจ MRI จะช่วยยืนยันการอักเสบของหัวใจได้ดี โรคนี้มีความรุนแรง แต่ก็พบได้ตั้งแต่มีอาการน้อย อาการมาก จนถึงเสียชีวิตได้ในระยะเวลารวดเร็ว แต่ในภาพรวมทั้งหมดแล้ว ไม่ได้พบบ่อย การติดเชื้อตัวเดียวกัน ไม่จำเป็นว่าทุกคนจะต้องมีอาการ การเกิดอาการขึ้นอยู่กับบุคคลซึ่งมีปัจจัยต่าง ๆ มาเกี่ยวข้อง และมีปัจจัยที่เรายังไม่รู้อีก แนวทางการรักษา ในปัจจุบันมีเครื่องมือ เครื่องใช้ในการช่วยพยุงหัวใจ รวมทั้งยา ประคับประคองรอให้การอักเสบลดลง ส่วนการให้ยาที่จะไปต้านไวรัส หรือปฏิกิริยาการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบมักจะใช้ภูมิต้านทานรวมชนิดฉีดเข้าเส้น การป้องกันการติดเชื้อไวรัส ไม่ว่าจะเป็นโรคทางเดินหายใจ โรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร การป้องกันดีที่สุดก็คงเป็น การดูแลสุขภาพอนามัย ดูแลร่างกายให้แข็งแรง เรื่องของความสะอาด ล้างมือ ทานอาหารที่สุก ใหม่ และสะอาด ใส่หน้ากากอนามัย มือไปที่ชุมชนคนหนาแน่น หรือโรงพยาบาล เมื่อพบผู้ป่วยก็จำเป็นที่จะต้องวินิจฉัยถึงสาเหตุของตัวไวรัสให้ได้ เพื่อมาตรการในการป้องกันได้อย่างถูกวิธี ทางศูนย์ที่ทำวิจัยอยู่ ยินดีที่จะรับตรวจให้ โดยสิ่งส่งตรวจที่สำคัญก็คงจะเป็นการป้ายจากคอหรือจมูกส่วนลึก เลือด และอุจจาระ เพื่อหาไวรัสที่น่าจะเป็นสาเหตุ โรคนี้พบได้ทั่วโลก ไม่ได้มีการระบาด พ่อแม่ผู้ปกครองทั่วไปก็ไม่ต้องวิตกกังวลเกินเหตุ ดูแลในมาตรการเรื่องสุขอนามัย ความสะอาด ให้วัคซีนป้องกันโรคตามกำหนดในเด็ก ก็น่าจะเพียงพออยู่แล้ว