กรมควบคุมโรค แจงกรณีนักศึกษาหญิงประเทศจีนติดเชื้อ HIV จากการทำฟันที่คลินิก

วันที่ 3 ม.ค. 2568 เวลา 18:40 น.

กรมควบคุมโรค ติดตามกรณีข่าวนักศึกษาหญิงประเทศจีนติดเชื้อ HIV จากการทำฟันที่คลินิกแห่งหนึ่ง พร้อมแนะวิธีป้องกันการติดเชื้อ HIV วันนี้ (3 มกราคม 2568) นายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีมีรายงานข่าวนักศึกษาหญิงปริญญาเอกติดเชื้อ HIV ตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นจากแหล่งข่าวเป็นข่าวจากประเทศจีน โดยทางศูนย์การควบคุมและป้องกันโรคของจีนสันนิษฐานว่าเกิดจากการติดเชื้อหลังจากไปใช้บริการคลินิกทันตกรรมแห่งหนึ่งที่ไม่ได้มาตรฐาน เอดส์เกิดจากการติดเชื้อ HIV ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่ทำลายระบบภูมิคุ้มกันของคน เป็นสาเหตุให้เกิดภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องได้ สามารถติดต่อผ่าน 3 ทาง คือ 1. ทางเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน                 2. ทางเลือด เช่น การใช้เข็มฉีดยาหรือกระบอกฉีดยาร่วมกัน การใช้อุปกรณ์ของมีคมที่ปนเปื้อนเลือดร่วมกัน โดยไม่ทำความสะอาดอุปกรณ์ให้สะอาดเพียงพอ รวมถึงการสัมผัสเลือดของผู้ติดเชื้อผ่าน    แผลเปิดของตนเอง 3.จากมารดาสู่ทารก ในระหว่างการตั้งครรภ์ ระหว่างคลอด และการให้นมบุตรในมารดาที่ไม่ได้รับยาต้านไวรัส หรือรับประทานยาแต่ไม่สม่ำเสมอและต่อเนื่อง สำหรับในกรณีการใช้เครื่องมือทางการแพทย์ที่ไม่ได้มาตรฐานสามารถทำให้เกิดการติด HIV รวมถึงกลุ่มโรคติดต่อทางเลือดอื่น ๆ เช่น ไวรัสตับอักเสบ ได้ ซึ่งประเทศไทย ได้มีการควบคุมดูแลมาตรฐานสถานพยาบาลให้ใช้เครื่องมือ  ปลอดเชื้อ ตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 กำหนดครบถ้วนทั้ง 5 ด้าน ซึ่งประกอบด้วย            1.สถานที่สะอาด ปลอดภัย มีห้องให้บริการเป็นสัดส่วนมิดชิด 2. มีทันตแพทย์ที่ได้รับใบประกอบวิชาชีพทันตกรรมจากทันตแพทย์สภาเป็นผู้ดำเนินการ 3. การบริการเป็นไปตามเกณฑ์คุณภาพมาตรฐาน          4. มียาและเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ฆ่าเชื้อเครื่องมือแพทย์ โดยเฉพาะการควบคุมมาตรฐานความสะอาดของเครื่องมือแพทย์ที่สามารถนำมาใช้ซ้ำจะต้องมีการทำให้ปราศจากเชื้อโรค (Sterilization) 5. มีชุดช่วยชีวิตฉุกเฉินเบื้องต้น เพื่อป้องกันอันตราย นายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า HIV สามารถป้องกันได้โดย 1. ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์  ที่ไม่ปลอดภัย  2. ตรวจคัดกรองโรคสม่ำเสมอเมื่อมีพฤติกรรมเสี่ยง หากติดเชื้อให้เข้าสู่ระบบการรักษาทันทีเพื่อป้องกันการถ่ายถอดเชื้อไปยังคู่ 3. กินยาป้องกันก่อนและหลังสัมผัสเชื้อ ได้แก่ ยาเพร็พ (Pre-Exposure Prophylaxis: PrEP) ซึ่งเป็นยาป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อหรือก่อน มีความเสี่ยง เพื่อเพิ่มความปลอดภัยจากการติดเชื้อ HIV แต่ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ได้ จึงยังจำเป็นต้องใช้ถุงยางอนามัยในการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ และ ยาเป็ป (Post-Exposure Prophylaxis: PEP) ซึ่งเป็นยาป้องกันการติดเชื้อ HIV ในกรณีฉุกเฉินหลังเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น เข็มตำ ถุงยางอนามัยฉีกขาดขณะมีเพศสัมพันธ์ มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน หรือผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ เป็นต้นโดยต้องรับประทานให้เร็วที่สุดภายใน 72 ชั่วโมง หลังมีความเสี่ยง ยิ่งรับประทานยาเร็วประสิทธิภาพในการป้องกันจะยิ่งดี 4. ไม่ใช้เข็มและกระบอกฉีดยา รวมถึงของที่ปนเปื้อนเลือดกับผู้อื่น นอกจากนี้ยังแนะนำหญิงตั้งครรภ์ควรฝากครรภ์ครั้งแรกที่อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ เพื่อตรวจหาการติดเชื้อ HIV หากพบการติดเชื้อให้เริ่มยาต้าน HIV โดยเร็วที่สุด และรับประทานอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง เพื่อลดโอกาสส่งต่อเชื้อไปยังทารก หากท่านมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422