สธ.เข้มมาตรการรับมือ อหิวาตกโรค หลัง WHO ประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินครั้งใหญ่
วันที่ 31 ธ.ค. 2567 เวลา 19:05 น.
สธ. เข้มมาตรการรับมือ อหิวาตกโรค หลัง WHO ประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินครั้งใหญ่ ย้ำกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ หากท้องร่วงรีบพบแทพย์ ขณะที่สถานการณ์ในไทย ยังพบผู้ป่วยอยู่ใน อ.แม่สอด จ.ตาก ส่วนผู้ป่วยในประเทศเพื่อนบ้านก็เริ่มลดลงแล้ว วันนี้ (31 ธ.ค.67) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีองค์การอนามัยโลกประกาศให้โรคอหิวาตกโรคเป็นภาวะฉุกเฉินครั้งใหญ่ (Major Emergency) ว่า การประกาศภาวะฉุกเฉินครั้งใหญ่ ต่างจากการประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern : PHEIC) เช่น โรคโควิด-19 โรคฝีดาษลิง ดังนั้น การประกาศให้อหิวาตกโรคเป็นภาวะฉุกเฉินครั้งใหญ่จะเป็นคนละนัยกับโรคโควิด-19 ที่เมื่อประกาศแล้วจะต้องดำเนินมาตรการอย่างเข้มงวด อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอหิวาตกโรค เป็นโรคที่ป้องกันได้ด้วยการกินร้อน ช้อนกลาง และล้างมือ แต่องค์การอนามัยโลกระบุว่ามีผู้ป่วยจำนวนมากขึ้นและพบในหลายประเทศมากขึ้นในปี 2567 จากเดิมที่มีการรายงาน 44 ประเทศในปี 2565 ซึ่งการเพิ่มขึ้นนี้เป็นความกังวล แต่หากทุกประเทศร่วมกันป้องกัน ก็จะช่วยควบคุมการแพร่เชื้อได้ เพราะอหิวาตกโรค ไม่ใช่โรคใหม่ เป็นโรคที่เรารู้จักกันอยู่ “อหิวาต์เป็น 1 ในโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังในประเทศไทยลำดับที่ 53 จากทั้งหมด 57 โรค แต่ไม่ใช่โรคติดต่ออันตรายที่มีอยู่ทั้งหมด 13 โรค การป้องกันอหิวาตกโรค สามารถทำได้ด้วยการรักษาสุขอนามัย การกินของร้อน ใช้ช้อนกลางและหมั่นล้างมือ น้ำที่ใช้ก็จะต้องเติมคลอรีน ถ้าพบว่ามีอาการป่วย ท้องร่วงก็ต้องรีบไปพบแพทย์ ดังนั้น การที่องค์การอนามัยโลกออกมาประกาศให้อหิวาตกโรคเป็นภาวะฉุกเฉินครั้งใหญ่ก็เพื่อให้แต่ละประเทศเกิดความตระหนักมากขึ้น” นพ.โสภณ กล่าว นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์อหิวาตกโรคในประเทศไทย ขณะนี้ยังพบผู้ป่วยอยู่ใน อ.แม่สอด จ.ตาก ส่วนผู้ป่วยในประเทศเพื่อนบ้านก็เริ่มลดลงแล้ว ซึ่งการที่มีการระบาดของโรคก็จะสร้างภูมิคุ้มกันชั่วคราวให้กับผู้ที่หายป่วย โอกาสที่จะกลับมาระบาดซ้ำก็จะไม่มาก แต่อย่างไรก็ตาม ต้องมีมาตรการป้องกันที่เข้มงวด เช่น การปรับปรุงสุขาภิบาลน้ำ ใช้น้ำสะอาดที่เติมคลอรีน อาหารก็ต้องปรุงสุก ทั้งนี้ การป้องกันบริเวณชายแดนไทยมีความเข้มงวดมาก เพราะหากมีคนข้ามแดนกันไปมา ก็มีโอกาสที่จะเจอผู้ป่วยในประเทศได้มากขึ้น