เปิดไทม์ไลน์ 9 นาที ช็อกโลก เจจูแอร์
วันที่ 31 ธ.ค. 2567 เวลา 07:07 น.
สนามข่าว 7 สี - ยังคงเกาะติดเหตุเครื่องบิน "เจจูแอร์" ประสบอุบัติเหตุขณะลงจอดที่สนามบินมูอัน ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเมื่อวาน (30 ธ.ค.) มีการเปิดเผยไทม์ไลน์ในช่วง 9 นาทีช็อกโลก เริ่มจากเวลา 08.54 น. ตามเวลาท้องถิ่น หอบังคับการได้อนุญาตให้เครื่องบิน "เจจูแอร์" ไฟลต์ 7C2216 ลงจอดบนรันเวย์ 01 จากนั้นเวลา 08.57 น. หอบังคับการฯ ได้แจ้งเตือนว่า "ระวัง ! พบฝูงนก" กระทั่งเวลา 08.59 น. นักบินของไฟลต์ 7C2216 แจ้งว่าเครื่องบินชนเข้ากับฝูงนก พร้อมกับประกาศสัญญาณฉุกเฉิน "เมย์เดย์ เมย์เดย์ เมย์เดย์" และยังแจ้งข้อมูลอีกว่า "โดนนกชน โดนนกชน ขอบินวนลงใหม่" เวลา 09.00 น. เครื่องบินเริ่มบินวน พร้อมกับขออนุญาตเปลี่ยนไปลงจอดที่รันเวย์ 19 ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามของรันเวย์ 01 จากนั้น 09.01 น. หอบังคับการบินอนุญาตให้ลงจอดบนรันเวย์ 19 และต่อจากนั้นเวลา 09.02 น. ไฟลต์ 7C2216 ได้ร่อนแตะพื้นรันเวย์ที่ระยะ 1,200 เมตร จากความยาว 2,800 เมตร จากนั้นในระยะเวลาเพียงไม่กี่สิบวินาที หอบังคับการบินก็ทำการกดสัญญาณให้หน่วยกู้ภัยกับดับเพลิงประจำสนามบิน เตรียมพร้อมเข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ และในเวลา 09.03 น. เครื่องบินลำดังกล่าวก็ไถลออกนอกรันเวย์ จนกลายเป็นภาพวินาทีช็อกโลก เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นเพียง 9 นาทีเท่านั้น ซึ่งนี่เป็นข้อมูลสำคัญที่ถูกเปิดเผยจากกระทรวงคมนาคม และหน่วยดับเพลิงเกาหลีใต้ เมื่อวานนี้ (30 ธ.ค.) ซึ่งในเวลาต่อมาช่วง 09.10 น. ก็มีการแจ้งข้อมูลของอุบัติเหตุไปยังกระทรวงคมนาคมของเกาหลีใต้ ส่วนความคืบหน้า หลังจากพบกล่องดำบันทึกข้อมูลการบินทั้ง 2 กล่อง ล่าสุดเจ้าหน้าที่คงต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 เดือน หรือเป็นปี ถึงจะสรุปสาเหตุที่ชัดเจนได้ ส่วนการพิสูจน์ยืนยันตัวบุคคลดำเนินการไปแล้ว 88 คน นอกจากนี้เมื่อวาน (30 ธ.ค.) ผู้คนยังต้องลุ้นระทึกอีกครัง เพราะไฟลต์ของ "เจจูแอร์" เส้นทางจากสนามบินกิมโพ ไปยังสนามบินเจจู ก็เกิดปัญหาล้อทำงานผิดปกติ จึงต้องนำเครื่องกลับไปลงจอดที่สนามบินต้นทาง และมีรายงานว่ามีผู้โดยสารในเที่ยวบินนั้นบางส่วน ได้ขอยกเลิกการเดินทาง เพราะความไม่มั่นใจ และเหตุการณ์ช็อกโลกเมื่อเช้าวันที่ 29 ธันวาคม ยังทำให้ผู้โดยสารของ "เจจูแอร์" ยกเลิกตั๋วที่จองไว้กว่า 68,000 ใบ นอกจากนี้ยังตั้งคำถามว่าโครงสร้างของกำแพงดังกล่าวแข็งเกินไป ไม่เหมาะกับสนามบิน สำนักข่าวยอนฮัป ของเกาหลีใต้ รายงานว่า จุดดังกล่าวเป็นโครงสร้างคอนกรีต มีระบบนำทางสำหรับลงจอดของเครื่องบินที่เรียกว่า "Localiser" โดยกำแพงดังกล่าวมีความสูง 4 เมตร ปกคลุมด้วยดิน โดยที่ยกสูงขึ้นมาก็เพื่อรักษาระดับของ Localiser กับรันเวย์ เพื่อทำให้แน่ใจว่าระบบจะทำงานเป็นปกติ ด้านกระทรวงคมนาคมเกาหลีใต้ ระบุว่า ที่สนามบินอื่น ๆ ในประเทศ กับบางแห่งในต่างประเทศ ก็มีอุปกรณ์ติดตั้งเอาไว้ในโครงสร้างคอนกรีตลักษณะคล้ายกันนี้ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบว่าโครงสร้างดังกล่าวควรสร้างจากวัสดุน้ำหนักเบา ที่สามารถแตกหักได้ง่ายเมื่อเกิดการปะทะหรือไม่ นายคริสต์ คิงส์วูด นักบินผู้มีประสบการณ์ยาวนานถึง 48 ปี และเคยขับเครื่องบิน โบอิ้ง 737-800 รุ่นเดียวกับเครื่องที่ตกมาแล้ว บอกกับสำนักข่าวต่างประเทศแห่งหนึ่งว่า สิ่งกีดขวางภายในระยะห่างจากรันเวย์ในระดับหนึ่ง จำเป็นต้องแตกหักได้ง่าย เพื่อให้มันแตกเวลาเครื่องบินไปชน