ประสบความสำเร็จ! ช้างป่าภูกระดึง 9 ตัว เข้าใช้ประโยชน์จาก “โป่งเทียม”
วันที่ 29 ธ.ค. 2567 เวลา 11:49 น.
ช้างป่า 9 ตัว เข้ามาใช้ประโยชน์จาก “โป่งเทียม” ภูกระดึง หลังเพิ่งสร้างได้ไม่นาน เพื่อเป็นแหล่งแร่ธาตุและดึงดูดช้างป่าให้อยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม แสดงให้เห็นว่ามาตรการดังกล่าวประสบความสำเร็จ! วันนี้ (29 ธ.ค. 67) นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้รับรายงานความสำเร็จจากสถานีวิจัยสัตว์ป่าภูหลวงและอุทยานแห่งชาติภูกระดึง หลังพบโขลงช้างป่า 9 ตัว เข้ามาใช้ “โป่งเทียม” ที่สร้างเพียง 7 วันหลังการจัดทำโป่งเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา ทาง นายจิรชัย อาคะจักร หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าภูหลวง รายงานว่า จากการติดตามผลการดำเนินงานเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2567 โดยโขลงช้างป่าที่พบประกอบด้วยสมาชิก 10 ตัว ประกอบด้วย ช้างพังโตเต็มวัย 5 ตัว ช้างวัยรุ่น 1 ตัว ลูกช้างโต 2 ตัว และลูกช้างขนาดเล็ก 2 ตัว เข้ามาใช้โป่งเทียมที่ 1 ซึ่งแสดงให้เห็นโครงสร้างสมาชิกครอบครัวช้างป่า โดยมีแม่ช้างนำฝูงที่เรียกว่า "แม่แปรก" ซึ่งเป็นช้างเพศเมียที่มีประสบการณ์สูงนำฝูง พร้อมด้วยช้างเพศเมียเต็มวัยอีก 4 ตัว ที่คอยดูแลลูกช้างในฝูง โดยโขลงช้างใช้เวลาอยู่ในบริเวณโป่งเทียมประมาณ 31 นาที และสิ่งที่น่าสนใจคือในฝูงมีแม่ช้างที่อยู่ในช่วงให้นมลูก 2 ตัว และพบแม่ช้างอย่างน้อย 3 ตัวที่มีงาซึ่งถือว่าหายากในปัจจุบัน รวมถึงลูกช้างโต 1 ตัว ที่มีงาหวายขนาดประมาณ 25-30 เซนติเมตร จากการสำรวจพบว่า ช้างฝูงนี้เดินทางมาจากบริเวณโป่งที่ 2 แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากโป่งดังกล่าว และมุ่งหน้ามายังโป่งที่ 1 ซึ่งอาจเป็นเพราะองค์ประกอบของแร่ธาตุที่ตรงกับความต้องการมากกว่า โดยโขลงช้างป่าใช้เวลาที่โป่งนานถึง 31 นาที แสดงให้เห็นว่าช้างรู้สึกปลอดภัยและพอใจกับแหล่งแร่ธาตุที่จัดเตรียมไว้ นอกจากนี้ ยังพบว่าโขลช้างมีการจัดลำดับการเข้าใช้โป่งอย่างเป็นระบบ โดยแม่ช้างผู้นำจะเข้าตรวจสอบความปลอดภัยก่อน ตามด้วยแม่ช้างที่มีลูกอ่อน และปิดท้ายด้วยช้างวัยรุ่นและลูกช้างโต ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงระบบสังคมที่ซับซ้อนและการดูแลซึ่งกันและกันในฝูงช้างป่า ทั้งนี้ ความสำเร็จในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการจัดการถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า และการดูแลประชากรช้างป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง ซึ่งจะช่วยในการอนุรักษ์และการศึกษาพฤติกรรมของช้างป่าในระยะยาว การดำเนินการดังกล่าวนับเป็นอีกก้าวสำคัญของการจัดการและอนุรักษ์ช้างป่า สอดคล้องกับนโยบายของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรช้างป่าของประเทศไทยอย่างยั่งยืน