องคมนตรี ไปติดตามการดำเนินโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่จังหวัดเชียงใหม่
วันที่ 26 ธ.ค. 2567 เวลา 20:09 น.
นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมเลขาธิการ กปร. และคณะฯ ไปติดตามโครงการระบบกักเก็บน้ำในถ้ำตามพระราชดำริ (ถ้ำห้วยลึก) อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริให้พิจารณาบริเวณที่เหมาะสมเพื่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก เมื่อปี 2524 โดยพระราชทานลายพระหัตถ์ กำหนดพิกัดก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเป็น "เครื่องหมายกากบาท 3 จุดลงในแผนที่" ต่อมาพบว่า คือ ภูเขาหินปูนที่มีโพรงถ้ำขนาดใหญ่ สามารถกักเก็บน้ำได้ตามพระราชประสงค์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันออกแบบ แล้วเสร็จเดือนมีนาคม 2549 ซึ่งถือเป็นโครงการฯ ที่มีวิธีการกักเก็บน้ำแบบใหม่ คือ ช่วยลดการระเหยของน้ำ ทำให้น้ำระดับใต้ดินเพิ่มขึ้น ปัจจุบัน สามารถส่งน้ำสนับสนุนพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึก จัดสรรให้ราษฎรประมาณ 200 ไร่ ในตอนบ่าย องคมนตรี พร้อมด้วยมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เดินทางไปยังโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ดอยดำ อำเภอเวียงแหง เชิญเสื้อกันหนาวพระราชทานไปมอบแก่เด็ก รวมทั้งถุงพระราชทานมอบแก่ราษฎรและผู้ปฏิบัติงาน ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงห่วงใยสุขภาพอนามัยของราษฎร โอกาสนี้ เยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ที่ส่งเสริมเป็นอาชีพ เช่น การตีมีด, ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ซึ่งจะใช้ปลูกเป็นพืชทางเลือกหลังนา, ปุ๋ยหมักชีวภาพ น้ำหมักชีวภาพ, ไวน์ผลไม้ และยาหม่องตะไคร้ต้น โครงการฯ ยังเป็นจุดเรียนรู้และสาธิตการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำบนพื้นที่สูง โดยศึกษาวิจัยและสาธิตการเพาะเลี้ยงปลาเรนโบว์เทราต์ ปลาไซบีเรียนสเตอร์เจียน และปลาสเตอร์เจียนลูกผสม เพื่อบริโภคในประเทศ โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ฯ ดอยดำ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชดำริให้ตั้งขึ้น เพื่อปลูกป่าฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธารโดยชุมชนมีส่วนร่วม ปัจจุบัน มีพื้นที่ป่าต้นน้ำ 5,200 ไร่ ราษฎรที่เข้ามาอยู่เป็นชาวไทยภูเขาเผ่าอาข่า ลีซอ และมูเซอ 9 ครัวเรือน 49 คน สามารถผลิตข้าวได้กว่า 15,000 กิโลกรัม เมื่อเหลือนำไปจำหน่าย ทำให้มีรายได้เฉลี่ยครอบครัวละเกือบ 9,000 บาท นอกจากนี้ ส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งโพรง ปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้น อาทิ กาแฟ อะโวคาโด เพื่อสร้างรายได้ และการอบรมการปลูกผักปลอดสารพิษตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่ห้องประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ อำเภอเมือง เชิญผ้าห่มกันหนาว พร้อมชุดยาและเวชภัณฑ์พระราชทาน จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ไปมอบแก่ราษฎร ประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน และลำปาง โดยมีผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัด ผู้แทน และราษฎร 200 คน เป็นผู้รับมอบ ในการนี้ เชิญพระราชกระแสทรงห่วงใยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ไปกล่าวแก่ราษฎร จังหวัดเชียงใหม่ แบ่งการปกครองเป็น 25 อำเภอ สถานการณ์ภัยหนาวในพื้นที่ มีราษฎรได้รับความเดือดร้อนกว่า 390,000 ครัวเรือน ได้รับจัดสรรสิ่งของพระราชทานให้ 11 อำเภอ