กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิด 5 กลุ่ม “ธุรกิจดาวรุ่ง” ประจำปี 2567 ทำแล้วดี ทำแล้วปัง

วันที่ 25 ธ.ค. 2567 เวลา 10:24 น.

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดชื่อ 5 กลุ่ม “ธุรกิจดาวรุ่ง” ประจำปี 2567 กีฬา บันเทิง ยานยนต์ไฟฟ้า ออนไลน์ ภาพยนตร์พุ่งแรง วันนี้ (25ธ.ค.67) นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้า วิเคราะห์ธุรกิจดาวรุ่งปี 2567 จากข้อมูลด้านการจดทะเบียนธุรกิจ เช่น จำนวนการจัดตั้งธุรกิจใหม่ ผลประกอบการ (กำไร-ขาดทุน) การเลิกประกอบกิจการ รวมทั้ง ปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ เช่น แนวโน้มธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ กระแสความนิยม นโยบายภาครัฐ ดัชนีทางเศรษฐกิจ สถานการณ์เศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ และการแข่งขันของธุรกิจ โดยผลการวิเคราะห์ฯ พบว่า ปี 2567 ธุรกิจดาวรุ่งมาแรงที่จูงมือกันเติบโตจะสอดคล้องกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกีฬาและออกกำลังกาย ท่องเที่ยวและบันเทิง ยานยนต์ไฟฟ้า ออนไลน์ ผลิตภาพยนตร์ โดย 5 ธุรกิจดาวรุ่ง มีรายละเอียด  ดังนี้ 1) กลุ่มธุรกิจกีฬาและการออกกำลังกาย ได้แก่ ธุรกิจจำหน่ายเสื้อผ้า อุปกรณ์กีฬา สถานฝึกสอนกีฬา และธุรกิจจัดการแข่งขันกีฬาธุรกิจกีฬาและการออกกำลังกายได้รับประโยชน์โดยตรงจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพและหันมาออกกำลังกายมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจกีฬาและการออกกำลังกายเติบโตอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผนวกกับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดการแข่งขันกีฬาต่างๆ มีการเติบโตเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ส่วนกลุ่มธุรกิจย่อยที่เติบโตได้ดี คือ การจัดตั้งธุรกิจด้านสถานที่ออกกำลังกายและสอนออกกำลังกายมีการจดทะเบียนจัดตั้งใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 27% นอกจากกีฬาที่คุ้นเคยกันอยู่แล้ว ยังมีการออกกำลังกายแบบใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยมและได้รับความสนใจจากผู้บริโภคเพิ่มขึ้น เช่น โยคะ พิลาทิส (Pilates) การดำน้ำ เป็นต้น โดยปี 2566 กลุ่มธุรกิจกีฬาและการออกกำลังกาย มีรายได้รวมอยู่ที่ 93,397.82 ล้านบาท สูงกว่าช่วงก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 2) กลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยวและความบันเทิง ได้แก่ ธุรกิจโรงแรมที่พัก ธุรกิจร้านขายของที่ระลึก ธุรกิจความบันเทิงและการแสดงโชว์ จากการท่องเที่ยวภายในประเทศที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบของโรงแรมที่พัก สปา ร้านอาหาร ส่งผลให้ ปี 2566 กลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยวและความบันเทิง มีรายได้รวมอยู่ที่ 359,670.04 ล้านบาท ขณะเดียวกัน กลุ่มธุรกิจย่อยที่เติบโตได้ดี คือ ธุรกิจความบันเทิง การแสดงโชว์ ก็มีการเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน โดยสถิติการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่มีกว่า 31.72% มูลค่าทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้นกว่า 1.82 เท่า 3) กลุ่มธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ ธุรกิจผลิตมอเตอร์ไฟฟ้า ธุรกิจแบตเตอรี่ ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจผลิตตัวถังยานยนต์   ทั้งนี้ ในปี 2567 เฉพาะกลุ่มธุรกิจย่อยชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเพิ่มขึ้นกว่า 61% โดยปี 2566 กลุ่มธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มีรายได้รวมกว่า 3.6 ล้านล้านบาท 4) กลุ่มธุรกิจ e-Commerce ได้แก่ ธุรกิจแพลตฟอร์ม e-commerce ธุรกิจคลังสินค้าและขนส่งสินค้า ธุรกิจกล่องบรรจุพัสดุ      กลุ่มธุรกิจย่อยการผลิตกล่องกระดาษที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งในปี 2567 เพิ่มสูงขึ้นกว่า 77% และทุนจดทะเบียนเพิ่มสูงขึ้นกว่า 2.41 เท่า รวมทั้งธุรกิจคลังสินค้าและขนส่งสินค้าที่เกี่ยวข้องจากการค้าในรูปแบบ Cross-Border e-Commerce เป็นโอกาสที่เปิดกว้างการค้าระหว่างประเทศของผู้ประกอบธุรกิจ 5) กลุ่มธุรกิจการผลิตภาพยนตร์ ได้แก่ ธุรกิจการผลิตภาพยนต์ วิดีทัศน์ รายการโทรทัศน์ และการตัดต่อภาพและเสียง มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และมีรายได้รวมกว่า 43,122.90 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19