ขึ้นค่าแรง 400 บาท ได้ไม่ทั่วไทย

วันที่ 24 ธ.ค. 2567 เวลา 06:11 น.

เช้านี้ที่หมอชิต - ได้ไม่ทั่วไทย หลังรอเก้อกันมาอยู่พักหนึ่ง สรุปก็เคาะสักทีสำหรับค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 400 บาท สรุปก็มีเพียง 4 จังหวัด กับอีก 1 อำเภอ ที่จะปรับขึ้นทันที 1 มกราคมปีหน้า เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้ผู้ใช้แรงงาน การประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง หรือ บอร์ดค่าจ้าง ก็ไม่ล่ม...ต้มคนดูแล้ว เพราะเมื่อวาน มากันครบองค์ประชุมไตรภาคีทั้งตัวแทนฝั่งนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล ฝั่งละ 5 คน ก็มาช่วยกันพิจารณาอย่างเคร่งเครียด โดยเฉพาะฝั่งที่ต้องการค่าแรงต่อวัน 400 บาท ท่ามกลางการส่งสัญญาณในที่ประชุมให้ทบทวนอัตรานี้ ซึ่งก่อนหน้าการประชุมไตรภาคีจะเกิด นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ก็บอกว่า ได้มอบนโยบายให้กับ นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานบอร์ดค่าจ้าง ให้นำโมเดลการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ทั่วประเทศมาใช้เป็นต้นแบบพิจารณาการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้แล้ว ซึ่งถ้าดูสถิติค่าแรงขั้นต่ำตั้งแต่ปี 2555 ที่มีนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างต่อวัน 300 บาท ทั่วประเทศ ถึงปี 2567 ก็ผ่านมาแล้ว 12 ปี แต่ค่าจ้างต่ำสุดยังอยู่ที่วันละ 332 บาท คิดเฉลี่ยขึ้นปีละ 2-3 บาท  ทั้ง ๆ ที่ แต่ละปีค่าแรงที่ขึ้นจะอ้างอิงตามอัตราเงินเฟ้อ และการเจริญเติบโตของ GDP ควรไม่น้อยกว่า 3 เปอร์เซ็นต์ เพราะถ้าพิจารณาทั้งราคาสินค้า ค่าสาธารณูปโภคทั้งน้ำ ค่าไฟฟ้า ก็ปรับขึ้นไปรอค่าแรงล่วงหน้า จึงถึงเวลาเหมาะสมที่ค่าแรงต่อวันควรอยู่ที่ 400 บาทแล้ว ซึ่งในที่สุดบอร์ดค่าจ้าง หลังถกกันนานกว่า 5 ชั่วโมง ก็เคาะมติเป็นเอกฉันท์ ให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราวันละ 7-55 บาท โดยมีอัตราสูงสุด คือ วันละ 400 บาท และอัตราต่ำสุดวันละ 337 บาท หรือถ้าพูดง่าย ๆ 400 บาทต่อวัน ก็มีเพียง 4 จังหวัด คือจังหวัดภูเก็ต ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง และอีก 1 อำเภอก็เฉพาะอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ได้ในอัตรา 400 บาทต่อวัน   นอกจากใน 4 จังหวัด และ 1 อำเภอ ที่ได้ปรับค่าจ้างต่อวันเป็น 400 บาท ตามสภาพค่าครองชีพในพื้นที่ ทั้งเป็นจังหวัดที่มีการท่องเที่ยว หรือเป็นจังหวัดในเขต ECC แล้ว กลุ่มที่รองลงมาได้ปรับค่าจ้างวันละ 380 บาท ได้แก่ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ส่วนกรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ปรับขึ้นมาเป็น 372 บาท ขณะที่จังหวัดอื่น ๆ ปรับขึ้นไม่เท่ากันมีตั้งแต่ 337-359 บาท ซึ่งการปรับขึ้นก็พิจารณาปัจจัยหลายอย่างทางเศรษฐกิจ ที่ตัวแทนแต่ละฝ่ายถกในที่ประชุม จนเป็นบทสรุปร่วมกัน ซึ่งตัวแทนฝั่งนายจ้างก็ไม่ได้โต้แย้ง พร้อมยังคงจับตาภาครัฐ จะมีมาตรการใดเข้ามาดูแลเยียวยาผู้ประกอบการเพิ่มต่อไป