สหรัฐฯ พบผู้ป่วยไข้หวัดนก ติดเชื้อรุนแรงโคม่ารายแรก

วันที่ 21 ธ.ค. 2567 เวลา 15:44 น.

กรมควบคุมโรคเผยสหรัฐฯ พบผู้ป่วยไข้หวัดนก ติดเชื้อรุนแรงโคม่ารายแรก มีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกตายในสวนหลังบ้าน ในไทยมีผู้ติดเชื้อรายสุดท้าย ปี 49 วันนี้ (21 ธ.ค.67) นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โรคไข้หวัดนกในต่างประเทศว่า เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.67 ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) ประกาศพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนก H5N1 รุนแรงรายแรกในรัฐลุยเซียนา สหรัฐอเมริกา ถือเป็นผู้ป่วยสะสมรายที่ 61 ผู้ป่วยเป็นชายสูงอายุ 65 ปี และมีโรคประจำตัว ซึ่งขณะนี้กำลังรักษาตัวในห้องไอซียู ด้วยภาวะระบบทางเดินหายใจรุนแรงจากการติดเชื้อไข้หวัดนก มีประวัติสัมผัสกับนกป่วย และนกตายภายในฝูงนกหลังบ้าน ถือเป็นกรณีแรกที่มีความเชื่อมโยงกับการได้รับเชื้อจากฝูงสัตว์ปีกในบ้าน จากการตรวจสารพันธุกรรมเบื้องต้นชี้ว่าไวรัส H5N1 ที่ตรวจพบในผู้ป่วยอยู่ในกลุ่มพันธุกรรม D1.1 ซึ่งเกี่ยวข้องกับไวรัสในนกป่าและสัตว์ปีกในสหรัฐฯ ทั้งนี้ ไข้หวัดนกเป็นโรคจากสัตว์มาสู่คน เดิมจะพบเชื้อไข้หวัดนกติดในสัตว์ปีก แต่ระยะหลังพบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม คือ ในฟาร์มโคนม ฟาร์มหมู ล่าสุดพบในสหรัฐฯ แต่ยังไม่แพร่จากคนสู่คน นพ.ภาณุมาศ กล่าวต่อว่า ไทยมีการเตรียมความพร้อมรับมือในการป้องกัน และควบคุมโรคไข้หวัดนกของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยกรมปศุสัตว์ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช มีมาตรการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกสำหรับผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ และมีการสำรองวัสดุ อุปกรณ์ ในการป้องกัน ควบคุมและรักษาโรคไข้หวัดนก พร้อมทั้งเตรียมห้องปฏิบัติการเครือข่ายตรวจหาเชื้อไข้หวัดนก (H5) ที่ก่อโรคในคนอีกด้วย ปัจจุบันในไทยยังไม่พบรายงานผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกรายใหม่ นับตั้งแต่พบผู้ป่วยรายสุดท้าย ในปี 2549 สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคไข้หวัดนก และมีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้ ไอ น้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ หรือตาแดงอักเสบ ภายใน 14 วัน ให้รีบไปพบแพทย์ พร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง ประชาชนควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สัตว์ปีก ไข่ และผลิตภัณฑ์จากโคนม หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีก สุกร หรือโคนมที่ป่วย หรือตาย ไม่ควรนำซากสัตว์ปีกหรือสัตว์ที่ป่วยตายโดยไม่ทราบสาเหตุไปประกอบอาหาร ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสัตว์ปีก บุคลากรทางการแพทย์ ควรเข้ารับบริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ถึงแม้วัคซีนจะไม่สามารถป้องกันโรคไข้หวัดนกได้ แต่วัคซีนช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ที่มีอาการรุนแรง อาจป้องกันการติดเชื้อซ้ำซ้อน (coinfection) และลดการเกิดไวรัสลูกผสมระหว่างไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดนกที่รุนแรง และแพร่ระบาดง่ายขึ้น