สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงปิดการประชุมวิทยาศาสตร์นานาชาติ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ครั้งที่ 9

วันที่ 18 ธ.ค. 2567 เวลา 20:06 น.

เวลา 15.54 น. วันนี้ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เสด็จไปยังโรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ ทรงเป็นประธานในพิธีปิดการประชุมวิทยาศาสตร์นานาชาติเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ครั้งที่ 9 ในหัวข้อ "ความท้าทายของสุขภาพหนึ่งเดียว : บทบาทของวิทยาศาสตร์ชีวภาพและเคมี" เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และเป็นการประชุมระดับนานาชาติครั้งสำคัญ มุ่งเน้นบทบาทสำคัญของวิทยาศาสตร์ชีวภาพและเคมี กับการแก้ปัญหาความท้าทายของ "สุขภาพหนึ่งเดียว" (One Health) ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างเสริมสุขภาพที่ดีแบบองค์รวม เพื่อให้ทุกชีวิตและทุกสรรพสิ่งอยู่ร่วมกันได้อย่างปลอดภัยและมั่นคง ในการนี้ พระราชทานเหรียญทองเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์  ซึ่งพระราชทานพระอนุญาตให้จัดตั้งขึ้น เพื่อยกย่องและประกาศเกียรติคุณแก่บุคคล หรือสถาบัน ที่มีผลงานด้านวิชาการ การจัดการเรียนการสอนร่วมกับสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์มาเป็นเวลานาน ในด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ ได้แก่ ดอกเตอร์ นอร์เบิร์ท แฟรงค์ จากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี, ดอกเตอร์ เคอร์ติส แฮร์รีส จากสหรัฐอเมริกา, ศาสตราจารย์ ลีโอนาร์ด ริตเตอร์ จากประเทศแคนาดา, ศาสตราจารย์ มาร์ติน แวน เดนเบิร์ก จากราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์, ดอกเตอร์ ซิน เว่ย แวง จากสหรัฐอเมริกา และท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ จากประเทศไทย โอกาสนี้ มีพระดำรัสปิดการประชุมฯ ความว่า "การประชุมครั้งนี้ ได้ดำเนินลุล่วงไปด้วยความราบรื่น โดยมีการนำเสนอผลงานที่มีคุณภาพสูง อีกทั้งการอภิปรายในแต่ละหัวข้อการบรรยาย แสดงให้เห็นถึงความสนใจของผู้เข้าร่วมประชุมเป็นอย่างดียิ่ง นอกจากนี้ การนำเสนอผลงานวิจัยและการประชุมย่อยต่าง ๆ ยังแสดงให้เห็นว่า การประชุมครั้งนี้ได้บรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดการประชุมวิทยาศาสตร์นานาชาติ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ เพื่อเปิดโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกสามารถแลกเปลี่ยนความคิด ประสบการณ์ และผลงานวิจัย โดยผลลัพธ์ที่ได้จะนำไปสู่การพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ที่จะเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ" การประชุมวิทยาศาสตร์นานาชาติ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ สร้างการมีส่วนร่วมในการแสวงหา และก่อให้เกิดความร่วมมือด้านการศึกษา ค้นคว้า วิจัย การเผยแพร่ข้อมูล การแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และความก้าวหน้าของงานวิจัยตามแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว ระหว่างนักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการสาขาต่าง ๆ มีการสนทนาโต๊ะกลม เพื่ออภิปรายและแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับการนำนวัตกรรมสมัยใหม่มาใช้ เพื่อประกอบการพิจารณาการอนุมัติยา สู่การนำไปใช้ในประชาชนได้อย่างรวดเร็วกว่าวิธีเดิม ส่งผลให้ยาสมัยใหม่สามารถนำไปใช้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มการเข้าถึง และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วย อาศัยหลักการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ยังคงความปลอดภัย ไม่น้อยกว่าการขึ้นทะเบียนโดยใช้วิธีการแบบเดิม