"เลขา สปสช." ยืนยัน ต่างด้าวข้ามแดนคลอดลูก ใช้ "สิทธิ ท.99" ไม่ได้ ส่วนลูกเกิดในไทย มีเลข 13 หลัก แต่ไม่ได้สิทธิบัตรทอง

วันที่ 18 ธ.ค. 2567 เวลา 09:56 น.

"เลขา สปสช." เผย "สิทธิ ท.99" เป็นสิทธิเฉพาะกลุ่ม ต่างด้าวทั่วไปใช้ไม่ได้ ย้ำข้ามแดนคลอดลูกในไทย แม้ได้เลข 13 หลัก แต่ไม่ได้สิทธิบัตรทอง สืบเนื่องจากโซเชียลมีเดีย เผยแพร่ข้อมูลต่างด้าวข้ามแดนมาคลอดลูกในไทย โดยใช้สิทธกองทุน ท.99 ไม่ต้องเสียค่ารักษาพยาบาล และ ยังอ้างว่ามีข้อมูลปี 2562-2566 พบว่า ไม่สามารถเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลจากต่างด้าวและผู้ติดตาม เฉลี่ยแล้วประมาณ 2,500 ล้านบาทต่อปี จนเกิดกระแสวิจารณ์อย่างมาก ล่าสุด (18ธ.ค.67) ในรายการเจาะลึกทั่วไทยอินไซด์ไทยแลนด์ นายแพทย์จเด็ด ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงกรณีนี้ โดยยอมรับว่า โรงพยาบาลชายแดนของไทยมีรายจ่ายที่เรียกเก็บไม่ได้ จากคนต่างด้าวเป็นเรื่องจริง แต่ไม่ทราบวงเงิน ว่าสูงถึงหลักพันล้านบาทเหมือนที่มีการเผยแพร่ข้อมูลในโซเชียลหรือไม่ พร้อมให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ต่างดาวที่ข้ามมารักษาพยาบาลในไทย ส่วนหนึ่งเพราะจากการดูแลรักษาที่ดีกว่า จึงยอมจ่ายเงินเอง และมีบางส่วนที่เป็นผู้ป่วยยากไร้ ที่ต้องให้การรักษาตามหลักมนุษยธรรม สำหรับ "สิทธิกองทุน ท.99" หรือ "บุคคลผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ" เป็นสิทธิตามมติ คณะรัฐมนตรีปี 2553 ที่อนุมัติงบประมาณไว้ส่วนหนึ่ง ปีละ 2-3 พันล้านบาท เพื่อดูแลรักษาพยาบาลกลุ่มคน 4-5 แสนคน ในระหว่างรอพิสูจน์สิทธิ และ สัญชาติ หลังจากประเทศไทยใช้ระบบหลักประกันสุขภาพ หรือ สิทธิบัตรทอง ที่ระบุว่า ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้น ดังนั้น สิทธิ ท.99 เป็นสิทธิเฉพาะกลุ่ม บุตรหลานของคนในกลุ่มนั้น จะได้รับสิทธิด้วย จนกว่าจะพิสูจน์สัญชาติแล้วเสร็จ แต่คนใหม่ไม่สามารถใช้สิทธิได้ ย้ำไม่ใช่ใครก็จะใช้ได้ สำหรับกรณีที่ต่างด้าวข้ามเข้ามาคลอดลูกในไทย มีสิทธิแจ้งเกิดได้ตามกฎหมาย และ ไทยจะให้เลขประจำตัว 13 หลัก ซึ่งเลขดังกล่าว ระบุชัดเจนว่า เป็นต่างด้าว ฉะนั้น การมีเลข 13 หลัก ไม่ใช่การรับรองว่าจะได้สิทธิรักษาแบบคนไทย จึงย้ำว่า แม้จะมีนายหน้าพามาคลอดลูก และ จดแจ้งเกิดในไทย แต่ก็ไม่ได้สิทธิรักษาพยาบาลแบบคนไทย ทั้งนี้ นายแพทย์จเด็ด ยืนยันด้วยว่า ระบบฐานข้อมูลของกระทรวงมหาดไทย  กับ สปสช. มีการเชื่อมโยงกัน ดังนั้น เด็กแม้จะเกิดในไทย เมื่อตรวจสอบแล้ว ไม่มีสัญชาติไทย ไม่มีสิทธิบัตรทอง