วิจัยพบ ทำ IF อดอาหาร เสี่ยงผมร่วง-ขึ้นใหม่ช้าลง เหตุเซลล์ต้นกำเนิดรูขุมขนถูกทำลาย

วันที่ 15 ธ.ค. 2567 เวลา 14:31 น.

ดร.อนันต์ เปิดผลวิจัย กลุ่มทำ IF อดอาหาร เสี่ยงผมร่วง-ขึ้นใหม่ช้าลง เหตุเซลล์ต้นกำเนิดรูขุมขนถูกทำลายพร้อมเผยวิธีป้องกันผลข้างเคียง วันนี้ (15 ธ.ค.67) ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “Anan Jongkaewwattana” เกี่ยวกับผลการวิจัยอดอาหารแบบเป็นช่วงหรือ IF ระบุว่า งานวิจัยในวารสาร Cell ที่เพิ่งออกมานี้เป็นของทีมนักวิจัยในประเทศจีน ได้ค้นพบว่าการอดอาหารแบบเป็นช่วง (Intermittent Fasting หรือ IF) ที่กำลังเป็นที่นิยมในการควบคุมน้ำหนักนั้น อาจส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตของเส้นผมและทำให้ผมร่วงได้ ทีมวิจัยพบว่าการอดอาหารแบบ 16/8 (กินอาหาร 8 ชั่วโมง อดอาหาร 16 ชั่วโมง) และการอดอาหารแบบวันเว้นวัน อาจส่งผลให้การเจริญเติบโตของเส้นผมช้าลงอย่างมีนัยสำคัญ สาเหตุเกิดจากการที่เซลล์ต้นกำเนิดของรูขุมขนที่กำลังทำงานอยู่ (activated hair follicle stem cells) ถูกทำลาย ในการศึกษากับหนูทดลอง ทีมวิจัยได้ทำการทดสอบผลของการอดอาหารแบบเป็นช่วงสองรูปแบบที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน ได้แก่ จำกัดการกินอาหารให้อยู่ในช่วงเวลา 8 ชั่วโมงและอดอาหาร 16 ชั่วโมง และการอดอาหารแบบวันเว้นวัน โดยเริ่มการทดลองกับหนูอายุ 60 วัน ในช่วงที่ขนกำลังอยู่ในระยะพัก (telogen phase) และทำการโกนขนเพื่อดูการเจริญเติบโตของขนใหม่ ผลการทดลองพบว่า ในขณะที่หนูกลุ่มควบคุมที่กินอาหารปกติมีการงอกของขนใหม่ภายในเวลาประมาณ 20 วัน หนูที่ได้รับการอดอาหารทั้งสองรูปแบบกลับมีการงอกของขนช้าลงอย่างเห็นได้ชัด แม้เวลาผ่านไป 96 วัน ขนก็ยังงอกไม่เต็มที่ เมื่อนักวิจัยศึกษาลึกลงไปในระดับเซลล์ พบว่าสาเหตุมาจากการที่เซลล์ต้นกำเนิดของรูขุมขนที่ถูกกระตุ้นให้ทำงาน เกิดการตายแบบ apoptosis โดยเฉพาะในช่วงที่มีการอดอาหาร ทีมวิจัยได้ค้นพบกลไกที่น่าสนใจว่า ในช่วงที่ร่างกายอดอาหาร ต่อมหมวกไต (adrenal glands) จะหลั่งฮอร์โมนที่ไปกระตุ้นเซลล์ไขมันที่อยู่ใต้ผิวหนัง (dermal adipocytes) ให้ปล่อยกรดไขมันอิสระออกมา กระบวนการนี้เป็นการสื่อสารระหว่างอวัยวะ (interorgan communication) ที่เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อภาวะขาดอาหาร เมื่อกรดไขมันอิสระเหล่านี้ถูกนำไปใช้โดยเซลล์ต้นกำเนิดของรูขุมขน จะส่งผลให้เกิดการสร้างอนุมูลอิสระ (Reactive Oxygen Species หรือ ROS) ในปริมาณมาก การที่มีอนุมูลอิสระสะสมในระดับสูงนี้ ทำให้เกิดความเครียดออกซิเดชัน (oxidative stress) ภายในเซลล์ต้นกำเนิด ส่งผลให้เซลล์เกิดความเสียหายและนำไปสู่การตายในที่สุด และที่น่าสนใจคือ ผลกระทบนี้เกิดขึ้นเฉพาะกับเซลล์ต้นกำเนิดที่ active เท่านั้น ในขณะที่เซลล์ต้นกำเนิดที่อยู่ในภาวะพัก (quiescent stem cells) ไม่ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ การทดลองยังแสดงให้เห็นว่าผลกระทบนี้ไม่ได้เกิดจากการลดลงของแคลอรี่ที่ได้รับ เพราะหนูทดลองสามารถปรับตัวโดยการกินอาหารมากขึ้นในช่วงเวลาที่สามารถกินได้ แต่เกิดจากระยะเวลาการอดอาหารที่ยาวนานเกินไป ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการสื่อสารระหว่างอวัยวะดังกล่าว ในการศึกษาทางคลินิกกับมนุษย์ นักวิจัยได้ทำการทดลองแบบสุ่มกับอาสาสมัคร 49 คน โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่ทำ IF แบบ 18/6 กลุ่มที่จำกัดแคลอรี่ และกลุ่มควบคุม ผลการทดลองพบว่ากลุ่มที่ทำ IF มีการเจริญเติบโตของเส้นผมช้าลงถึง 18% เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยได้ค้นพบวิธีป้องกันผลข้างเคียงนี้ด้วย โดยการเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระให้กับเซลล์ต้นกำเนิดของรูขุมขน ในการทดลองกับหนู การทาวิตามินอีที่หนังศีรษะหรือการเพิ่มการแสดงออกของยีนที่ผลิตเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระ สามารถป้องกันการตายของเซลล์และช่วยให้ผมเจริญเติบโตได้ตามปกติ