สั่งระดมพล เครื่องจักร ลงพื้นที่ช่วยน้ำท่วมภาคใต้

วันที่ 15 ธ.ค. 2567 เวลา 11:23 น.

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระดมสรรพกำลังและเครื่องจักร เร่งช่วยเหลือน้ำท่วมใต้ทุกพื้นที่  "นฤมล"กำชับกรมชลประทานเกาะติดสถานการณ์ใกล้ชิด ตลอด 24 ชม. วันนี้(15 ธ.ค.67) นายเอกภาพ พลชื่อ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งกรมชลประทาน ติดตามช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมพื้นที่ภาคใต้ทุกพื้นที่ด่วน   หลังเกิดฝนตกหนักถึงหนักมากจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือค่อนข้างแรงปกคลุมภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป กรมชลประทานรายงาน ขณะนี้ (15 ธ.ค.) เกิดพื้นที่ประสบอุทกภัยรวม 4 จังหวัด ได้แก่ จ.ชุมพร จ.ระนอง จ.สุราษฎร์ธานี และจ.นครศรีธรรมราช ดังนี้ 1. จังหวัดชุมพร ปริมาณฝน 24 ชั่วโมง (14 ธ.ค. 67) วัดได้ 326.0 มม. สะสม 48 ชั่วโมง (14-15 ธ.ค.67) 531 มม. มีน้ำท่วม 7 อำเภอ ได้แก่ อ.ท่าแซะ อ.เมืองชุมพร อ.สวี อ.ทุ่งตะโก อ.ละแม อ.ปะทิว และ อ.หลังสวน ซึ่งเป็นน้ำท่วมขังในพื้นที่และน้ำล้นตลิ่งบริเวณคลองชุมพร คลองสวี คลองตะโก คลองหลังสวน โครงการชลประทานชุมพร สำนักงานชลประทานที่ 14 ติดตั้ง เครื่องสูบน้ำบริเวณ อำเภอเมืองชุมพร รวม 11 จุด 11 เครื่อง และ ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำรวม 3 จุด 12 เครื่อง โดยสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน มีรายละเอียดดังนี้ - คลองชุมพรเริ่มลดลงปัจจุบันน้ำอยู่ระดับต่ำกว่าตลิ่ง แล้ว - คลองท่าแซะ มีน้ำล้นตลิ่ง ที่สถานี x.64 (บ้านท่าแซะ) 28 เซนติเมตร สถานี x.158 (บ้านวังครก) ประมาณ 35 เซนติเมตร - คลองหลังสวน มีน้ำล้นตลิ่งประมาณ 2.26 เมตร - คลองสวี มีน้ำล้นตลิ่ง ประมาณ 2.59 เมตร หากปริมาณฝนลดลง คาดว่า จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 1-2 วันนี้ 2. จังหวัดระนอง ปริมาณฝน 24 ชั่วโมง (14 ธ.ค. 67) วัดได้ 277.5 มม. ฝน 48 ชั่วโมง (14-15 ธ.ค.67) 388 มม. มีน้ำท่วม 1 อำเภอ ได้แก่ อ.กระบุรี ซึ่งเกิดจากน้ำท่วมขังและมีน้ำล้นตลิ่งของคลองญวนและคลองบางน้ำจืด โครงการชลประทานระนอง สำนักงานชลประทานที่ 14 ได้เตรียมพร้อมกระสอบทราย 500 ใบ เพื่อสนับสนุนในพื้นที่ และติดตั้งเครื่องสูบน้ำ จำนวน 2 เครื่องออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำ ปัจจุบันระดับน้ำในคลองสายต่างๆ ต่ำกว่าตลิ่งแล้ว และ สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว 3. จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปริมาณฝน 24 ชั่วโมง (14 ธ.ค. 67) วัดได้ 185.5 มม. ฝน 48 ชั่วโมง (14-15 ธ.ค.67) 338.5 มม. มีน้ำท่วม 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองสุราษฎร์ธานี อ.กาญจนดิษฐ์ อ.ดอนสัก และ อ.ท่าชนะ ซึ่งเป็นน้ำท่วมขังในพื้นที่ และบางพื้นที่มีน้ำล้นตลิ่งแม่น้ำตาปี คลองท่าทอง และคลองท่ากระจาย ประมาณ 0.20-0.30 เมตร โครงการชลประทานสุราษฎร์ธานี สำนักงานชลประทานที่ 15 ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 7 เครื่อง และติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 6 เครื่อง และได้ดำเนินการพร่องน้ำบริเวณฝายท่าทอง ฝายคลองไชยา เพื่อรับปริมาณน้ำที่เกิดจากฝนตกอย่างต่อเนื่อง หากไม่มีฝนตกหนักมากมาเพิ่มเติม คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติใน 3-5 วัน 4. จังหวัดนครศรีธรรมราช ปริมาณฝน 24 ชั่วโมง (14 ธ.ค. 67)  วัดได้ 253.6 มม. ฝน 48 ชั่วโมง (14-15 ธ.ค.67) 299.0 มม. มีน้ำท่วม 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองนครศรีธรรมราช อ.ปากพนัง อ.ท่าศาลา และ อ.พระพรหม ซึ่งเกิดจากฝนที่ตกหนักในพื้นที่เข้าท่วมขัง และบางส่วนเกิดจากน้ำล้นตลิ่งในคลองท่าดี คลองเสาธง โครงการชลประทานนครศรีธรรมราช สำนักงานชลประทานที่ 15 ติดตั้งเครื่องสูบน้ำรวม 63 เครื่อง กระจายในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำรวมอีก 19 เครื่อง ปัจจุบันระดับน้ำในคลองท่าดีที่สถานี X.285 คลองนครน้อย (คลองหน้าเมือง) อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ยังคงสูงกว่าตลิ่งประมาณ 0.66 เมตร แนวโน้มยังคงเพิ่มขึ้น คาดว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 2-3 วัน หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มเติม นายนฤมล ระบุ ในส่วนของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ยังไม่ได้รับผลกระทบน้ำจากน้ำท่วม และน้ำล้นตลิ่งในลำน้ำสายหลัก แต่กรมชลประทานได้เตรียมความพร้อมของบุคลากรและเครื่องจักรเครื่องมือประจำในพื้นที่เสี่ยง พร้อมทั้งติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ถึงช่วงวันที่ 16 ธันวาคม 2567 ตามประกาศแจ้งเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยา