ACT เปิดข้อมูล “10 ทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง” อบจ. ตั้งคำถาม “ป.ป.ช.” ทำไมคดีน้อยแค่หลักสิบ ?

วันที่ 11 ธ.ค. 2567 เวลา 19:07 น.

วันนี้ (12 ธ.ค.67)  องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ เปิดข้อมูล “10 ทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง” ในองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่เกิดขึ้นในรอบ 20 ปี (พ.ศ.2547-2567) พบจำนวนทุจริตน้อยกว่าที่สังคมรับรู้หรือมีการร้องเรียน ที่แย่กว่านั้นหลายคดีเงียบ ขณะที่คนทำผิดส่วนใหญ่กลับรอด เฉพาะ “10 ทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง” ที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมนั้น รวมมูลค่าความเสียหายประมาณการไม่น้อยกว่า 377 ล้านบาท  ประกอบด้วย  https://bit.ly/3ZpCOPC  โดยอดีตนายกอบจ. อุบลราชธานี กระทำทุจริตมากที่สุดถึง 42 คดี ขณะที่ อบจ.สงขลายังมีคดีทุจริตพัวพันอดีตนายก อบจ. มากกว่าจังหวัดใดในประเทศไทย 1.  ทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง 42 คดี โดย อดีตนายก อบจ. อุบลราชธานี มูลค่าความเสียหาย 114 ล้านบาท 2.  ทุจริตจัดซื้อถุงยังชีพ โดยอดีตนายก อบจ.ปทุมธานี  มูลค่าความเสียหาย 3 ล้านบาท 3.  ทุจริตจ้างเหมาขุดลอกลำน้ำ โดยอดีตนายก อบจ.ลำปาง มูลค่าความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท 4.  ทุจริตเงินอุดหนุนสมาคมกีฬา  โดยอดีตนายก อบจ. พิจิตร มูลค่าความเสียหายกว่า 15 ล้านบาท 5.  ทุจริตจัดซื้ออุปกรณ์ออกกำลังกายและหนังสือเรียน โดยอดีตนายก อบจ.กำแพงเพชร  มูลค่าความเสียหายกว่า 2 ล้านบาท 6.  ทุจริตจัดซื้อท่อระบายน้ำมิชอบ โดยอดีตนายก อบจ.พะเยา มูลค่าความเสียหาย 9.6 ล้านบาท 7.  ทุจริตทำถนน 6 โครงการ โดยอดีตนายก อบจ.นครราชสีมา มูลค่าความเสียหายกว่า 9 ล้านบาท 8.  ทุจริตเงินอุดหนุนวัด โดยอดีตนายก อบจ.สมุทรปราการ  มูลค่าความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท 9.  ทุจริต 5 กรณี โดยอดีตนายก อบจ.สงขลา  มูลค่าความเสียหายเบื้องต้น 18.6 ล้านบาท 10. ทุจริตจัดซื้อถุงยังชีพ “แคร์เซ็ต” โดยอดีตนายก อบจ.ลำพูน มูลค่าความเสียหายเกือบ 6 ล้านบาท นายมานะ นิมิตรมงคล  เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า  จากผลโพลล์โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (2567) ระบุว่า ประชาชนกว่าร้อยละ 95 รับรู้ว่ามีคอร์รัปชันโกงกินงบประมาณท้องถิ่นในอบจ.เป็นจำนวนเงินมหาศาล และตามสถิติของป.ป.ช. ยังพบว่า คอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้างฯ เป็นเรื่องที่มีการร้องเรียนมากที่สุด เฉพาะปี 2566 ปีเดียวมีการร้องเรียนมากถึง 827 เรื่อง ไม่นับการร้องเรียนผ่านหน่วยงานอื่นๆ อีก ได้แก่ ป.ป.ท.  สตง. ตำรวจสอบสวนกลางและศูนย์ดำรงธรรม อีกจำนวนหนึ่ง แต่ข้อมูลทุจริตจัดซื้อฯขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกลับหายากมาก ยิ่งไปกว่านั้น ตัวเลขคดีที่ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดหรือศาลตัดสินแล้วกลับพบน้อยมาก หากสืบค้นจากเวบไซต์ป.ป.ช. ในช่วงปี 2554 - 2563 พบข้อมูลแค่ 11 คดี จากนั้นไม่พบการอัพเดทข้อมูลอีกเลย  นอกจากนั้น ยังพบอีกว่า ช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา มี “คดีร่ำรวยผิดปรกติ” น้อยมาก กล่าวคือ พบคดีร่ำรวยผิดปกติที่ศาลตัดสินยึดทรัพย์แล้ว 1 คดี อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีอีกเพียง 2 คดีเท่านั้น ทั้งๆ ที่ระบบ ACT Ai (actai.co) แสดงข้อมูลการยื่นบัญชีทรัพย์สินของนักการเมืองต่อ ป.ป.ช. พบว่า นายก อบจ. หลายคนมีทรัพย์สินเป็นพันล้านบาท และนายก อบจ. จำนวนมากรวยเกินร้อยล้านบาท ไม่นับรวมความมั่งคั่งของคนในครอบครัว “ตัวเลขอย่างนี้ ผมขอชวนประชาชนช่วยกันถาม ป.ป.ช.และมหาดไทย ว่าพวกท่านคิดอย่างไร สงสัยบ้างไหมว่าทำไมคนไทยทั้งประเทศรู้ว่ามีคอร์รัปชัน แต่พวกท่านไม่รู้จริงหรือ? ทั้งหมดคือความจริงที่ต้องย้ำให้คนไทยตระหนักว่า หากเราปล่อยให้พวกคดโกงชนะการเลือกตั้งครั้งใหญ่ต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ จะเกิดวิกฤตใหญ่ตามมาอย่างไร” เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ กล่าวและว่า เมื่อดูจากเรื่องที่สังคมรับรู้และคดีที่มีคนร้องเรียนในแต่ละปี ฟันธงเลยว่า ส่วนใหญ่รอดและหลายคดีเงียบ   เกี่ยวกับลักษณะการทุจริตจัดซื้อจัดจ้างในอบจ.เฉพาะ 10 ทุจริตที่องค์กรฯ ค้นพบและเผยแพร่นี้ https://bit.ly/3ZpCOPC สะท้อนให้เห็นความหลากหลายกลโกงในการจัดซื้อฯ มีทั้งให้บริษัทพรรคพวกหรือคนในครอบครัวมารับงาน มีการทำเอกสารเท็จ ปกปิดข้อมูล ไม่เปิดประมูลทั่วไปแต่เน้นใช้วิธีเฉพาะเจาะจง ฮั้วประมูล อบจ.เองบริหารสัญญาจนรัฐเสียเปรียบ ฯลฯ  “ถ้ามองในแง่ของกระบวนการยุติธรรมสะท้อนให้เห็นว่า การพิจารณาคดีคอร์รัปชันใช้เวลานานมาก แม้ศาลตัดสินว่าผิดจริงก็ลงโทษเบา รอลงอาญาก็มาก และเกือบทั้งหมดไม่ยึดทรัพย์คนโกง” ถามว่า มองเห็นทางออกของการตัดห่วงโซ่คอร์รัปชันฯระหว่างนักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐ นักธุรกิจฮั้วประมูลหรือทุจริตจัดซื้อจัดจ้างฯ ได้หรือไม่ ? เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ บอกว่า ทำได้แต่ต้องอาศัยพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพราะทุกกลโกงย่อมมีช่องโหว่ โดยยกตัวอย่างกรณี “กำนันนก นครปฐม” ประมูลงานรัฐได้กว่าหมื่นล้านบาทด้วยเพราะมีเครือข่ายใหญ่ มีบ้านใหญ่หนุนหลัง ดังนั้น หน่วยงานรัฐอย่าง “ปปง.” ต้องสอบเส้นทางการเงิน แล้วร่วมมือกับหน่วยงานด้านภาษี ทั้ง สรรพากร สรรพากร ศุลกากร เชิญชวนมาร่วมตรวจสอบตัดวงจรเอกชนทุกรายที่เกี่ยวข้อง เช่น ร้านค้าวัสดุก่อสร้าง ผู้รับเหมาช่วง ไปตรวจการเสียภาษีรายได้ ภาษีการค้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม ใครออกใครใช้ใบเสร็จปลอม การซื้อขายวัตถุดิบ การสต็อกสินค้า การส่งออกนำเข้าสินค้า จำนวนลูกจ้าง เป็นต้น ขณะที่ตัวอบจ.เอง หากมีเจตนารมณ์ดีในการดูแลคุณภาพชีวิตคนในชุมชน สามารถบริหารงบประมาณแบบเน้นการมีส่วนร่วมกับประชาชนและมีการเปิดเผยข้อมูลให้ทุกคนเข้าถึงได้ หรือที่เรียกว่า กระบวนการจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม (Participatory Budgeting) เป็นต้นว่า แผนการจัดทำโครงการลงทุนของ อบจ. จะทำอะไร ใช้งบประมาณเท่าไหร่ต้องให้ประชาชนรู้และร่วมตัดสินใจว่าอะไรเกิดประโยชน์ร่วมกัน อะไรฟุ่มเฟือย  จะต้องมีการเผยแพร่งบประมาณประจำปี จากนั้นทุก 6 เดือนก็กลับมารายงานว่าทำอะไร ใช้เงินไปจำนวนมากน้อยแค่ไหน “สำคัญที่สุดคือ ประชาชนต้องร่วมปกป้องผลประโยชน์ของท้องถิ่น สอดส่องสิ่งผิดปกติ และอย่าเลือกคนซื้อเสียงให้เขากลับมาถอนทุนคืน” เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ กล่าว