ปวีณาพาผู้เสียหายยื่นดีเอสไอ ตรวจสอบบริษัทช่วยปิดหนี้ หลอกซื้อคอนโดความเสียหายรวมกว่า 3 พันล้าน

วันที่ 11 ธ.ค. 2567 เวลา 11:29 น.

ปวีณาพาผู้เสียหายยื่นดีเอสไอ ตรวจสอบบริษัทช่วยปิดหนี้ หลอกซื้อคอนโดความเสียหายรวมกว่า 3 พันล้าน เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 11 ธ.ค. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI) นางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี พาผู้เสียหาย 70 คน ซึ่งเป็นตัวแทนจากทั้งหมด 200 กว่าคน เดินทางไปยื่นหนังสือกับ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ให้ช่วยตรวจสอบ บริษัทแห่งหนึ่ง ช่วยปิดหนี้ หลอกซื้อคอนโดฯ คนละ 3-6 ห้อง จนผู้เสียหายต้องเป็นหนี้กันคนละกว่า 10 ล้านบาท และเกิดความเสียหายเป็นหนี้รวมกว่า 3,000 ล้าน บาท นางปวีณา กล่าวว่า หลังรับเรื่องร้องทุกข์จากผู้เสียหายที่เดินทางมามูลนิธิปวีณาเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. ตรวจสอบเอกสารกฎหมายมีความละเอียดมากมีสัญญาเกือบทุกเรื่อง จึงมองถึงการแก้ปัญหาหนี้สินเป็นหลักว่าจะแก้อย่างไร สิ่งแรกที่เป็นห่วงคือ หนี้สินที่ต้องแบกหนี้คนละ 10 ถึง 20 ล้านบาท บางคนมากถึง 40 ล้านบาท ทั้งที่ทุกคนอายุยังน้อยอยู่ในวัยทำงานต้องเลี้ยงดูครอบครัว เลี้ยงดูลูกและพ่อแม่ ทุกคนพะวงว่าถ้าหาเงินมาใช้หนี้ไม่ได้เขาจะถูกเป็นบุคคลล้มละลาย หมายความว่าชีวิตเขาจะอยู่อย่างไร เอาเงินที่ไหนมาเลี้ยงดูครอบครัว ถูกออกจากงาน ยึดทรัพย์สิน เสียเครดิต วันนี้ตนเองจึงพาผู้เสียหายถูกบริษัทในพื้นที่คลองสอง ช่วยปิดหนี้หลอกซื้อคอนโดเสียหายเป็นหนี้ จึงมายื่นหนังสือต่อพ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อขอให้เป็นหน่วยงานหลักประสานธนาคารทุกแห่งประเทศไทย เพื่อทำการประนอมหนี้ ชะลอการชำระเงินกู้ระหว่างแก้ไขปัญหา เนื่องจากผู้เสียหายไม่มีกำลังส่งค่างวดกู้ซื้อคอนโดพร้อมกันหลายห้องได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบให้ธนาคารมีหนี้เสียและส่งผลกับสภาวะเศรษฐกิจขณะนี้ เพื่อขอให้  DSI เป็นหน่วยงานหลักในการประสานธนาคารแห่งประเทศไทย ส่งเรื่องไปยังธนาคารทุกแห่ง เพื่อทำการประนอมหนี้ เช่น ไม่คิดดอกเบี้ย ชะลอการชำระเงินกู้ เพื่อให้ผู้เสียหายได้มีโอกาสตั้งหลักในการขายหรือให้เช่าคอนโดฯ เนื่องจากผู้เสียหายไม่มีกำลังส่งค่างวดกู้ซื้อคอนโดฯ พร้อมกันหลายห้องได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบเป็นหนี้เสียของธนาคารและส่งผลกับสภาวะเศรษฐกิจขณะนี้ ขอให้ตรวจสอบบริษัทที่ทำธุรกิจในรูปแบบนี้ที่ตอนนี้มีการโฆษณาในโซเชียลอยู่เป็นจำนวนมาก หากมีคนหลงเชื่อจะทำให้เกิดความเสียหายมหาศาลที่ประเมินค่าไม่ได้   ทางด้านนายพัฒน์  (นามสมมติ) ผู้เสียหาย เปิดเผยว่า เมื่อปี 2565 ตนเองมีภาระหนี้ภายในครอบครัวประมาณ 5 แสนกว่าบาท  และต้องการปลดภาระหนี้กับสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อมารวมนี้อยู่ที่เดียว จึงพยามหาข้อมูลจากโซลเชียล แล้วพบบริษัท แห่งหนึ่ง ซึ่งประกอบธุรกิจเกี่ยวกับให้เช่าคอนโด หรือห้องพัก และรับปิดหนี้ให้  จึงได้ทิ้งข้อมูลไว้ ต่อมามีพนักงานโทรมาเพื่อสอบถามข้อมูล และนัดคุยรายละเอียด ซึ่งตนก็ได้เดินทางไปตามนัด เมื่อมีการพูดคุยรายละเอียดยอดหนี้ และฐานเงินเดือนของตนตอนนั้น ทางบริษัทจะปิดหนี้ให้ โดยมีการเซ็นต์ ขอตกลงกันว่า ตนจะต้องยื่นกู้ซื้อคอนโด ที่พัก จำนวน5ห้อง ซึ่งตนได้มีการแจ้งความประสงค์ไปแล้วว่าตนไม่ได้อยากได้คอนโด แต่ทางบริษัท ออกอุบายว่า ให้ตนยื่นกู้ไปก่อนหลังจากนั้นบริษัทจะช่วยปิดหนี้ และจะรับซื้อ คอนโดดังกล่าวกลับคืนหลังผ่อนชำระเสร็จ  เนื่องจากบริษัทต้องการที่จะนำห้องดังกล่าวไปปล่อยให้คนภายนอกเข้า ซึ่งภาระในการผ่อนคอนโดนั้นทางบริษัทจะเป็นผู้ผ่อนชำระเองไม่เกี่ยวข้องกับตนตนมีหน้าที่ในการผ่อนชำระยอดหนี้จำนวน 500,000 บาท ซึ่งปกติตนจะต้องชำระยอดหนี้เดือนละประมาณ 30,000 บาทแต่ว่าเมื่อ เข้าโครงการของบริษัทนี้จะผ่อนชำระหนี้เดือนละ 4,407 บาทจำนวน 60 เดือน แต่ปรากฎว่า เมื่อเดือนกันยายน -ตุลาคม มีข้อความผ่านทาง LINE กลุ่มของบริษัท ในทำนองที่ว่าบริษัทมีปัญหาอยากให้ทุกคนมาทำเรื่องรีไฟแนนซ์ให้ ซึ่งตนก็ไปทำตามแต่หลังจากนั้นกลับมีธนาคารโทรมาเพื่อให้ตนไปชำระหนี้ เนื่องจากตนขาดการชำระหนี้มาระยะหนึ่งแล้ว จึงได้มีการไปทวงถามกับบริษัทแต่บริษัทก็ไม่ได้ให้ความชัดเจน นอกจากนี้ยังมีผู้เสียหายรายอื่นๆ ที่ตามไปที่บริษัทด้วยเช่นเดียวกัน แต่ทางบริษัทพยายามไกล่เกลี่ยและ คืนห้องที่มีการเช่าซื้อ ก่อนหน้านี้ ให้กับผู้เสียหายรายอื่นๆ แต่ตนไม่ได้รับไว้เนื่องจากตนไม่ได้ต้องการยื่นกู้เช่า-ซื้อห้อง หรือคอนโด ตั้งแต่ทีแรก ทั้งนี้ตนมองว่าทางบริษัทมีความจงใจ และมีการกระทำเป็นกระบวนการ เพราะมีผู้เสียหายในลักษณะเดียวกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งก่อนที่จะยื่นกู้ต่างๆตนก็ได้มีการศึกษามาดีแล้วเนื่องจากบริษัทนี้มีการจดทะเบียนทุน 55 ล้านบาทและดำเนินการตั้งแต่ปี 2555 จึงดูมีความน่าเชื่อถือแต่ไม่คิดว่าจะเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ตอนนี้ตนเองมีหนี้ในการยื่นกู้ เช่าซื้อห้องพักจำนวน 5 ห้องรวม 16 ล้านบาท และยังไม่รู้ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป จึงเดินทางมาร้องกับ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และ ปอศ. ไว้ก่อนแล้ว พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวว่า เบื้องต้นกรมสอบสวนคดีพิเศษ รับเรื่องไว้ตรวจสอบก่อน แนะนำผู้เสียหายให้ไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) เนื่องจากเป็นเรื่องเศรษฐกิจความเสียหายเกิดขึ้นถึง 3,000 ล้าน แต่ขอตรวจสอบแล้วเข้าข่ายก็จะรับเป็นคดีพิเศษ