กระทิงขวิด จนท.อุทยานฯ 2 นาย ยังสาหัส
วันที่ 9 ธ.ค. 2567 เวลา 11:34 น.
ห้องข่าวภาคเที่ยง - เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติตาดหมอก 2 นาย ถูกกระทิงขวิด จนไส้ทะลัก และแขนขาหัก แพทย์ช่วยเหลือผ่าตัดปลอดภัยแล้ว ยังเฝ้าติตามอาการ ย้อนไปดูเหตุการณ์ ทีมแพทย์ Sky Doctor จากโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ นครสวรรค์ เข้าช่วยเหลือ กระทิงขวิด จนท.อุทยานฯ 2 นาย ยังสาหัส เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า อุทยานแห่งชาติตาดหมอก ช่วยกันหามเพื่อนร่วมงาน จำนวน 2 คน คือนายประพันธ์ นาครอด และนายอนันต์ ทรัพย์สิน ได้รับบาดเจ็บสาหัส เพราะถูกกระทิงขวิด ขณะลาดตระเวนในป่ารอยต่อเพชรบูรณ์-ชัยภูมิ โดยนายประพันธ์ ถูกขวิดที่ท้องจนลำไส้ทะลัก ส่วนนายอนันต์ แขนขวาหัก ไม่สามารถลำเลียงออกจากป่าได้ จึงประสานขอความช่วยเหลือด่วน ต่อมา เวลา 16.40 น. วานนี้ ทีมแพทย์ Sky Doctor และทีมแพทย์จากโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ นครสวรรค์ ใช้เฮลิคอปเตอร์จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บินด่วนไปรับผู้บาดเจ็บกลางป่าลึก ออกจากพื้นที่ ก่อนส่งลำเลียงไปรักษาตัวยังโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ นายรณรัตน์ ศิริมากร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติตาดหมอก บอกว่า อาการบาดเจ็บของเจ้าหน้าที่ 2 นาย ขณะนี้ปลอดภัยพ้นขีดอันตรายแล้ว แต่ในส่วนของนายอนันต์ แขนขาหัก ยังน่าเป็นห่วง เพราะร่างกายส่วนท่อนล่าง ไม่ตอบสนองความรู้สึก เนื่องจากโดนกระทิงขวิดกระทบกระเทือนไปถึงกระดูกสันหลัง เบื้องต้นทราบว่า ขณะลาดตระเวนเจ้าหน้าที่ มองไม่เห็นกระทิง ที่เข้ามาทำร้าย ถ้าหากพบเห็นในระยะใกล้ ๆ จะใช้ปืนยิงขู่ขึ้นฟ้าป้องกันตัว เพื่อให้กระทิงอยู่ห่าง หรือหนีออกไปจากจุดที่กำลังมีการลาดตระเวน ส่วนในพื้นที่รับผิดชอบมีกระทิงอาศัยอยู่มากกว่า 200 ตัว พบเจอเป็นประจำทุกครั้งอยู่แล้ว เตือนระวังช้างป่าตกมัน อุทยานฯ แก่งกระจาน ส่วนช้างป่า ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กำลังเข้าสู่ฤดูกาลช้างตกมัน นายมงคล ไชยภักดี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน บอกว่า ช้างป่าแก่งกระจาน-ป่าละอู เข้าฤดูกาลตกมันแล้ว โดยปกติจะเริ่มต้นในเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม และต่อเนื่องถึงเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ของปีถัดไป ช้างป่ามักออกมาเดินข้ามถนนเข้าป่า จึงเตือนนักท่องเที่ยว หรือผู้ที่สัญจรผ่านถนน ในอุทยานฯ หากพบเห็นช้างป่า ให้อยู่ห่างไม่น้อยกว่า 50 เมตร และยังต้องระมัดระวังหากจะเดินป่า ให้เคาะไม้ส่งเสียงเพื่อให้ช้างรู้ตัว พร้อมสังเกตุฟังเสียงช้างป่าหักไม้ หรือกลิ่นจากตัวช้างป่า หากยืนอยู่เหนือลม โดยให้รักษาระยะห่างจากตัวช้าง หรือเสียงที่ได้ยิน