ฝากขังปาร์ตีมั่วสุมยา กลุ่มนักเที่ยวไฮโซ
วันที่ 9 ธ.ค. 2567 เวลา 11:17 น.
ห้องข่าวภาคเที่ยง - เรื่องปาร์ตีของกลุ่ม LGBTQ+ ที่นัดหมายกันผ่านกลุ่มลับ ถ้าเป็นปาร์ตีจริง ๆ ก็ไม่น่าผิดอะไร แต่พอมียาเสพติดเข้ามาพ่วงด้วย อันนี้เลยต้องแยกดำเนินคดี คนเสพที่มีทั้งหมอ, นักธุรกิจ และนักแสดงประกอบซีรีส์ดัง เลือกเข้าระบบบำบัดรักษา แต่คนที่เอายาเสพติดเข้ามา ต้องแยกส่งฟ้องศาลฯ 124 คน อันนี้คือจำนวนเต็มของ กลุ่มชายรักชาย ที่ตำรวจ สน.ทองหล่อ บุกไปจับกุมในโรงแรมหรู ซอยสุขุมวิท 31 ช่วง 01.30 น. ของวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา มีทั้งคนไทย คนต่างชาติ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มไฮโซ และยังมีนักแสดงประกอบซีรีส์, อดีตผู้บริหารคลินิกเสริมความงามชื่อดัง, อาจารย์, แพทย์, เซเลป ในจำนวนนี้มีผู้หญิง เพียง 2-3 คน ตอนที่ตำรวจคัดแยก ว่าใครต้องถูกดำเนินข้อหาไหนยังไงบ้าง ก็จะดูจากของกลางที่พบ เจอทั้ง ไอซ์ ยาอี ยาเค และสารเสพติดคล้าย "ยาแฮปปี้วอเตอร์" อยู่ในตัวชาย 30 คน หญิง 1 คน จึงถูกดำเนินคดีข้อหา "มียาเสพติดในครอบครอง" และถูกส่งฟ้องด้วยวาจาต่อศาลแขวงพระนครใต้ ส่วนผลการตรวจปัสสาวะ กลุ่มนักเที่ยวทั้งหมด พบมี 66 คน ที่เป็นสีม่วง กลุ่มนี้สมัครใจเข้าสู่ระบบการบำบัดรักษา และอีก 27 คน ไม่พบสารเสพติด แต่ยังต้องรอตรวจสอบต่อไปว่า มีใครจะต้องถูกดำเนินคดีในข้อหาอื่นอีกหรือไม่ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 5 บอกแบบนี้ ปาร์ตีนี้จัดขึ้นกันในกลุ่มลับของกลุ่มคนที่มีความรักชอบแบบเดียวกัน คนที่จะเข้างานปาร์ตีได้ จะต้องผ่านการคัดกรองทั้งหน้าตา รูปร่าง หากผ่านจะได้รับตำแหน่งสถานที่จัดงาน ซึ่งแต่ละคนก็ต้องไปเช่าห้องเอาเองอีก จากนั้นค่อยมารวมตัวสังสรรค์กันในห้องใหญ่ ถ้าถูกใจถึงจะนัดไปร่วมหลับนอนกัน ไม่มีการค้าบริการทางเพศ ส่วนเรื่องยาเสพติด พบว่ามี 1 คน ที่เป็นเจ้าของคิวอาร์โค้ด เป็นคนขายยาเสพติด ส่วนใหญ่คนนี้เป็นตัวการสำคัญที่ตำรวจจะไปขยายผลต่อ แต่ก็มีบางคนเหมือนกัน ที่พกยามาเสพติดกันเอง ก็ต้องแยกดำเนินคดีกันไป สอบถาม เลขาธิการ ป.ป.ส. อธิบายเรื่องของการดำเนินคดีว่าทุกข้อหา "เสพ" หรือ "ครอบครองเพื่อเสพ" หรือ "ครอบครองเพื่อจำหน่าย" ต่างก็มีโทษจำคุกเหมือนกัน แต่เวลาที่ต้องดำเนินคดี หากเป็นผู้เสพ จะแยกเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา ก็จะมีแพทย์กำหนดระยะเวลาประเมิน 2-3 เดือน ถ้าผู้เสพผ่านขั้นตอนการบำบัดแล้วไม่พบว่ากลับไปเสพยาอีก ก็จะพ้นโทษได้ แต่หากเบี้ยวนัดหรือกลับไปเสพใหม่ ก็จะแจ้งตำรวจดำเนินคดี กรณีของ "ครอบครองเพื่อเสพ" จริง ๆ แล้วไม่ต่างกัน เพียงแต่คนกลุ่มนี้ คือพวกที่ไม่สมัครใจเข้าสู่ระบบการบำบัดรักษา ก็ต้องให้ศาลฯ เป็นผู้พิจารณาโทษ ส่วนใหญ่แล้ว จะดูเรื่องอาการข้างเคียงจากการเสพ ถ้าหนักจะใช้คำสั่งบังคับบำบัด แล้วให้ติดตามคุมประพฤติ ส่วนใหญ่มักจะได้รับโทษ "รอลงอาญา" เพราะโทษแค่จำคุก 2 ปี ปรับ 40,000 บาท ส่วน "ครอบครองเพื่อจำหน่าย" อันนี้โทษเริ่มต้นที่จำคุก 3 ปี ปรับเท่าไร ขึ้นอยู่กับของกลางที่ตรวจยึดได้