ชาวนาดีใจได้เงินช่วยเหลือไร่ละ 1 พัน เหน็บช่วยน้อยกว่าชุดลุงตู่
วันที่ 4 ธ.ค. 2567 เวลา 12:59 น.
ชาวนาดีใจรับเงินช่วยเหลือไร่ละ 1 พันบาท จำกัดไม่เกิน 1 หมื่นบาท เหน็บรัฐบาลไม่จริงใจ เงินช่วยเหลือถูกตัดไปครึ่งหนึ่ง ช่วยน้อยกว่ารัฐบาลลุงตู่ เคยให้ถึงครัวเรือนละ 2 หมื่นบาท หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ห็นชอบอนุมัติโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการ และพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท จำนวน 4.68 ล้านครัวเรือน วงเงิน 38,578.19 ล้านบาท วันนี้ (4 ธ.ค.67) ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นชาวนาที่บ้านโนนรัง ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น พบว่าชาวนาส่วนใหญ่ดีใจที่รัฐบาลช่วยเหลือ แต่ก็ไม่เห็นด้วยและเสียใจกับการที่รัฐบาลลดค่าช่วยเหลือเกษตรกรลง มองว่าเป็นการช่วยเหลือแบบไม่จริงใจ สู้รัฐบาล “ลุงตู่” ไม่ได้ นายวิรัตน์ ชาวนาอายุ 58 ปี และประธานศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนสาวะถี บอกกับผู้สื่อข่าวว่า ก็รู้สึกดีใจที่รัฐบาลให้ความช่วยเหลือ แต่ถ้าจะช่วยเหลือเกษตรกรแบบจริงใจรัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะต้องช่วยค่าทุนการปลูกการทำนา ไร่ละ 3,200 บาท เพราะถ้าจะช่วยจริง ๆ ให้ช่วยต้นทุนการผลิตไร่ละ 3,200 บาท กี่ไร่ก็ได้ แต่มาพิจารณาแบบนี้โดยส่วนตัว มองว่ารัฐบาลช่วยเหลือแบบไม่จริงใจ ช่วยแบบให้พอผ่าน ๆ ไป "ถ้าเปรียบเทียบรัฐบาลนี้ ยังสู้รัฐบาลลุงตู่ไม่ได้ เพราะว่ารัฐบาลยุคนั้นให้จริง ๆ แบบจริงใจ แต่รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งทำไมให้กันแบบไม่จริงใจ ทั้งนี้อยากฝากบอกว่ารัฐบาลยุคใหม่น่าจะจริงใจเพราะเป็นคนรุ่นใหม่อยากให้สอนเกษตรกรรู้จักการค้าขายกับต่างประเทศอยากให้ช่วยแก้กฎหมายการส่งออกให้เกษตรกรสามารถส่งออกขายข้าวกับต่างชาติได้เองโดยอิสระไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง การช่วยเหลือโดยการแจกเงินแบบนี้ไม่ใช่ทางออกในการแก้ปัญหาที่ดี แต่ต้องสอนให้เกษตรกรรู้จักค้าขายเองให้ได้" นายสุรพงษ์ ชาวนา อายุ 67 ปี กล่าวว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่พอใจ ที่เงินช่วยเหลือเกษตรกรลดลง ปกติได้คนละ 20ไร่ หรือประมาณ 20,000 บาท แต่มาวันนี้เงินช่วยเหลือลดลง เงินที่ลงทุนไปกับเงินที่รัฐบาลช่วยเหลือบอกได้เลยว่าไม่คุ้ม ถ้าราคาผลผลิตยังตกต่ำอยู่แบบนี้ เพราะปุ๋ยแพง ค่ายาแพง ค่าอุปกรณ์การเกษตรแพง ค่าจ้างรถไถ ค่าปั่น ค่าเมล็ดพันธุ์ เงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท ถือว่าช่วยเหลือเบื้องต้น จึงขอฝากให้รัฐบาลทบทวนให้กลับมาได้ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ เพราะจะเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของเกษตรกรได้เป็นอย่างดี