ต้มยำกุ้ง ความภาคภูมิใจของไทย

วันที่ 4 ธ.ค. 2567 เวลา 11:19 น.

ห้องข่าวภาคเที่ยง - ใกล้มื้อเที่ยงแบบนี้ ทีมข่าวเราลงพื้นที่ไปสอบถามตามร้านอาหาร คุณผู้ชมออร์เดอร์เมนูอะไร ใช่ต้มยำกุ้งหรือเปล่า แล้วรู้หรือเปล่า ต้มยำกุ้ง ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแล้วนะ ยูเนสโก หรือ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ประกาศรับรอง “ต้มยำกุ้ง” อาหารชื่อดังของประเทศไทย ขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ประจำปี 2567 สด ๆ ร้อน ๆ เมื่อเวลา 02.00 น. ของประเทศไทย ต้มยำกุ้ง เป็นมรดกภูมิปัญญาฯ ที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีการดำเนินชีวิตของคนไทย ที่มีความเรียบง่าย มีสุขภาวะทั้งกายและใจที่แข็งแรง รู้จักการพึ่งพาตนเองด้วยวิธีธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบตัว เป็น “กับข้าว” ที่คนในชุมชนเกษตรกรรมริมแม่น้ำในพื้นที่ภาคกลาง นำวัตถุดิบที่มีอยู่ในชุมชนท้องถิ่นมาสร้างสรรค์เป็นอาหารเพื่อสุขภาพ ชื่อ ต้มยำกุ้ง เกิดจากการนำคำ 3 คำมารวมกันได้แก่ “ต้ม” “ยำ” และ “กุ้ง” ซึ่งหมายถึงกระบวนการทำอาหารที่นำเนื้อสัตว์ คือ กุ้ง ต้มลงในน้ำเดือดที่มีสมุนไพรซึ่งปลูกไว้กินเองในครัวเรือนอย่างข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด และปรุงรสจัดจ้านแบบยำ ให้มีรสเปรี้ยวนำด้วยมะนาว ตามด้วยรสเค็มจากเกลือหรือน้ำปลา รสเผ็ดจากพริก รสหวานจากกุ้ง และขมเล็กน้อยจากสมุนไพรนั่นเอง ซึ่งการถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ผลดีคือเมนูต้มยำกุ้งจะเป็นที่ประจักษ์ของชาวโลก ประชาชนและผู้ประกอบการสามารถหยิบจับไปสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกด้วย ประชาชนก็แสดงความยินดี แต่ก็มองว่าจริง ๆ ควรจะได้รับการยกย่องตั้งนานแล้วเพราะต้มยำกุ้งเป็นเมนูขึ้นชื่อของประเทศไทย ส่วนหลายคนก็มีเมนูในใจที่อยากให้ยูเนสโกรองรับหลากหลายเมนูท็อปโหวตคือ ข้าวผัดกะเพรา ต้มข่าไก่ และขนมจีนน้ำยา เพราะมีเอกลักษณ์ของแต่ละภาค ทีมข่าวลงพื้นที่สอบถามแม่ค้าขายอาหารตามสั่งมั่นใจว่าประชาชนและนักท่องเที่ยวจะสั่งเมนูนี้เพิ่มมากขึ้น เพราะครบรสชาติ และวันนี้ ราว ๆ 19.30 - 22.30 น. รอลุ้น ชุด “เคบายา” รายการมรดกวัฒนธรรมที่เสนอขอขึ้นร่วม 5 ประเทศ คือ ประเทศมาเลเซีย บรูไน อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และไทย จะได้รับการรับรองให้ขึ้นทะเบียนในปีเดียวกันอีกด้วย