คานเหล็ก พระราม 2 ถล่มทับเสียชีวิต 6 คน
วันที่ 29 พ.ย. 2567 เวลา 16:09 น.
ข่าวเย็นประเด็นร้อน - คานเหล็กถล่ม ถนนพระราม 2 ตายพุ่ง 6 คน เร่งหารือวางแผนกู้ซาก นำร่างผู้เสียชีวิตออกมา คานเหล็ก พระราม 2 ถล่มทับเสียชีวิต 6 คน ช่วงเวลา 04.30 น. ที่ผ่านมา เกิดเหตุทรัส หรือ คานเหล็กที่ใช้ยกแผ่นปูนก่อสร้างทางยกระดับถนนพระราม 2 ตอนที่ 1 ช่วงที่ 3 ขาออกกรุงเทพฯ ตำบลนาดี อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ก่อนถึงตลาดมหาชัยเมืองใหม่ พังถล่มลงมา เบื้องต้นมีคนงานเสียชีวิตรวม 6 คน โดย 4 คน เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ส่วนอีก 2 คน อาการสาหัส แล้วเสียชีวิตที่โรงพยาบาล รายชื่อผู้เสียชีวิต ประกอบด้วย 1.นายอภิวัฒน์ อายุ 30 ปี สัญชาติไทย เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ศพอยู่ โรงพยาบาลสมุทรสาคร 2.นายสุทัศน์ อายุ 31 ปี สัญชาติไทย เสียชีวิตที่ โรงพยาบาลมหาชัย 1 3.นายเอยา อายุ 37 ปี สัญชาติเมียนมา เสียชีวิตที่ โรงพยาบาลสมุทรสาคร 4.นายชิต สัญชาติเมียนมา เสียชีวิตที่เกิดเหตุ ยังนำร่างออกมาไม่ได้ ส่วนรายที่ 5-6 ยังนำร่างออกมาไม่ได้ เป็นสัญชาติเมียนมาทั้งคู่ นอกจากนี้ ผู้บาดเจ็บถูกนำส่งโรงพยาบาลต่าง ๆ ประมาณ 9 คน คนงานที่เหลือประมาณ 25 คน ได้รับการช่วยเหลือออกมาอย่างปลอดภัย ซึ่งช่วงเกิดเหตุ มีคนงานก่อสร้างกำลังทำงานอยู่ ประมาณ 40 กว่าคน หัวหน้าคนงานเห็นลูกน้องตกลงมาเสียชีวิต หัวหน้าคนงาน เล่าว่า ตอนเกิดเหตุทุกคนกำลังทำงานอยู่ด้านบน ช่วงที่กำลังจะย้ายมาทำงานอีกข้าง ตัวยกแผ่นปูนก็ถล่มลงมา ทำให้ลูกน้องตกลงมาเสียชีวิต บางคนน่าจะถูกทับอยู่ใต้ซากคานที่ถล่ม เจ้าหน้าที่เร่งเคลียร์พื้นที่พังถล่ม หลังเกิดเหตุ นายนริศ นิรามัยวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ลงพื้นที่ทันที แต่ยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่ทำให้ถล่มลงมาได้ เบื้องต้นจะมีวิศวกรจากบริษัทผู้รับจ้าง และสำนักก่อสร้างสะพาน กรมทางหลวง เข้าตรวจสอบ และนำรถเครนขนาด 400 ตัน 1 คัน และ 200 ตัน 2 คัน เข้าเคลียร์พื้นที่ ปิดการจราจรพระราม 2 ขณะที่ ตำรวจทางหลวง ประชาสัมพันธ์เส้นทาง โดยปิดการจราจร ช่องหลัก ขาเข้า-ขาออก (ถึงช่วงบ่าย) พร้อมแจ้งเส้นทางเลี่ยง ดังนี้ ขาเข้า กทม. รถจากภาคใต้ ให้ใช้ถนนเพชรเกษม เข้า กทม. รถจากสมุทรสงคราม, บางโทรัด ให้ใช้ทางหลวง 375 มุ่งหน้าเข้า อำเภอบ้านแพ้ว ไปออกนครปฐม ขึ้นถนนเพชรเกษม เข้าถนนบรมราชชนนี เข้า กทม. รถจากมหาชัย-สมุทรสาคร ใช้ถนนเศรษฐกิจ ถนนพุทธสาคร ถนนพุทธมณฑลสาย 4 ถนนบรมราชชนนี เข้า กทม. ส่วนขาออก กทม. รถจาก กทม. ใช้ถนนบรมราชชนนี เข้าถนนเพชรเกษม มุ่งหน้าลงใต้ รถจากต่างระดับบางขุนเทียน ใช้ถนนเลียบชายทะเลบางขุนเทียน เข้าตัวเมืองมหาชัย เข้าถนนพระราม 2 มุ่งหน้าลงใต้ ขณะที่สภาพการจราจรบนถนนพระราม 2 ล่าสุด การจราจรฝั่งขาเข้ากรุงเทพฯรถติดหนัก คาดว่าติดยาวเป็นระยะทางไม่ต่ำกว่า 7 กิโลเมตร ก่อนถึงจุดเกิดเหตุ พบเป็นจากจุดเกิดเกตุ ข้ามแม่น้ำท่าจีนไม่น่าจะต่ำกว่า 5 กิโลเมตร ส่วนขาล่องใต้ (ถนนด้านล่าง) การจราจรคล่องตัวเมื่อเลยจุดเกิดเหตุไปแล้ว แต่ก่อนถึงจุดเกิดเหตุมีรถติดสะสมหลายกิโลเมตรเช่นกัน เยียวยาผู้เสียชีวิต-บาดเจ็บ ขณะที่ นายวรณัฎฐ์ หนูรอต รับมอบอำนาจจากผู้ว่าราชการจังหวัด ประชุมร่วมกับฝ่ายต่าง ๆ โดยการเยียวยาผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ทางผู้ตรวจราชการของประกันสังคมได้ลงพื้นที่แล้ว เบื้องต้นผู้เสียชีวิตที่มีประกันสังคม มีกองทุนที่จะจ่ายให้ราว ๆ 800,000 บาทเศษ ส่วนผู้บาดเจ็บ จะใช้เงินกองทุนดูแล จนกระทั่งหายเป็นปกติ นอกจากนี้ได้รับแจ้งจากทางผู้รับจ้างว่า ทางบริษัทจะดูแลเยียวยาให้ดีที่สุด คาดใช้เวลารื้อถอนโครงเหล็ก 2-3 วัน นายวุฒินันท์ ปัทมวิสุทธิ์ ประธานสาขาวิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า สาเหตุยังไม่ทราบ แต่เบื้องต้นพบมีวัสดุคาอยู่ น้ำหนักประมาณ 100 ตัน และมีบล็อกที่แขวนคาอยู่ คาดว่าน้ำหนักเกิน 50 ตัน การเก็บกู้เป็นเรื่องยาก เพราะโครงเหล็กยึดโยงกับหลายส่วน ต้องทยอยรื้อจากด้านบน แล้วนำร่างผู้เสียชีวิตออกมา คาดจะใช้เวลารื้อถอนประมาณ 2-3 วัน ตั้งสมมุติฐาน 4 ข้อ คานเหล็กพังถล่ม ศาตราจารย์ ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย อธิบายว่า โครงสร้างเหล็กที่พังถล่มลงไป เป็นโครงถักเหล็กเลื่อน ใช้สำหรับยกชิ้นส่วนสะพาน ให้วางตัวในแนวเดียวกัน จากนั้นยึดชิ้นส่วนเข้าด้วยกัน โดยการดึงลวดอัดแรง โครงถักเหล็กที่ใช้ มีลักษณะเป็นรูป 3 เหลี่ยม ใช้คู่กัน 2 ตัว เพื่อยกชิ้นส่วนสะพาน การพังถล่มคาดว่า เกิดขึ้นขณะติดตั้งคานปูน ไม่ใช่ขั้นตอนเลื่อนโครงถักไปข้างหน้า แต่สาเหตุที่แท้จริง จะต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียด สุริยะ เสียใจ สั่งสอบหาสาเหตุภายใน 15 วัน ขณะที่ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม แถลงข่าวเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมมอบหมายกรมทางหลวง ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และหาข้อสรุปภายใน 15 วัน รวมถึงตรวจสอบความปลอดภัยให้มั่นใจก่อนเปิดการจราจรด้วย สำหรับโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 สายทางยกระดับ ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว มีงานก่อสร้าง 10 ตอน จุดที่เกิดเหตุ อยู่ในตอนที่ 1 มีบริษัทแห่งหนึ่งเป็นผู้รับจ้าง วงเงิน 1,757 ล้านบาท บกพร่องซ้ำซาก เอาผิดเด็ดขาด ไม่ละเว้น ขณะที่ พลตำรวจเอก กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร. ระบุว่า เน้นย้ำตำรวจภูธรภาค 7 ให้มีความเด็ดขาดในการสอบสวน หากเหตุที่เกิดขึ้น เป็นความรับผิดชอบของบริษัท หรือ ผู้รับเหมารายที่เคยทำให้เกิดอุบัติเหตุมาแล้ว ข้อมูลส่วนนี้จะนำมาพิจารณาในสำนวน เป็นหน้าที่ที่พนักงานสอบสวนจะต้องพิจารณาข้อมูลโดยละเอียด หากพบผู้มีส่วนผิด ให้ดำเนินคดีเด็ดขาด ไม่มีการละเว้น อาร์ต พศุตม์ ผวาขับผ่าน ถ.พระรามที่ 2 ขณะที่ อาร์ต พศุตม์ บานแย้ม นักแสดงชื่อดัง ซึ่งใช้ถนนพระราม 2 ทุกวัน โพสต์อินสตราแกรมส่วนตัว ยอมรับว่า เริ่มกลัว โดย อาร์ต ระบุว่า ตอนแรก ๆ ไม่กลัว พอวันนี้เริ่มกลัว ไม่ใช่แค่เศษหลุดร่วงนิดหน่อย แต่นี่ถล่มลงมาเลย แล้วผมต้องขับผ่านเส้นนี้ทุกวัน เอาไงดีว่ะเนี่ยกู #พระราม 2 ดีนะเมื่อคืนหนีออกสายสี่ ย้อนรอยอุบัติเหตุจากก่อสร้างบน ถ.พระรามที่ 2 ถนนพระราม 2 เป็นพื้นที่ที่เกิดอุบัติเหตุซ้ำซาก โดยเฉพาะอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง ย้อนไปวันที่ 18 มกราคม 2567 เกิดเหตุบริเวณปากซอยพระรามสอง 72 ถนนพระรามสองขาเข้า สลิงรถเครนยกกระเช้าขาด ทำให้กระเช้าตกลงมาด้านล่าง มีคนงานเสียชีวิต 1 ศพ และบาดเจ็บอีก 1 ราย วันที่ 7 พฤษภาคม 2566 ถนนพระราม2 ขาออก มุ่งหน้าสมุทรสาคร ใกล้ศาลเจ้าแม่งูจงอาง แท่นปูนขนาดใหญ่ที่กำลังก่อสร้างทางด่วน หล่นลงมา แล้วพลิกเข้าไปบริเวณเกาะกลางถนน ทับคนงานชายเสียชีวิต 1 ราย รถยนต์ได้รับความเสียหาย 4 คัน วันที่ 7 มีนาคม 2566 รถเครนโครงการก่อสร้างทางยกระดับ ล้มขวางถนนพระราม 2 ฝั่งขาออกกรุงเทพฯ แม้ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ แต่ก็ทำให้รถไม่สามารถขับผ่านได้นานกว่า 30 นาที วันที่ 31 กรกฎาคม 2565 สะพานกลับรถถล่มเสียชีวิต 2 ราย เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นใกล้กับโรงพยาบาลวิภาราม โดยสะพานกลับรถได้ถล่มลงมาทับรถยนต์ที่วิ่งอยู่ด้านล่าง จนกลายเป็นความสูญเสีย วันที่ 22 มกราคม 2566 แผ่นปูนขนาดใหญ่ร่วงใส่รถยนต์บริเวณถนนคู่ขนานสะแกงาม วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 น้ำปูนหล่นใส่รถประชาชน โชคดีที่ไม่มีความเสียหายใด ๆ เกิดขึ้น วันที่ 16 กรกฎาคม 2565 บริเวณถนนพระราม 2 ฝั่งขาเข้ากรุงเทพฯ โดยมีแท่งเหล็กไซต์งานก่อสร้างร่วงหล่นลงมาเฉียดหน้ารถกระบะ ทำให้รถเสียหลักเกือบพลิกคว่ำ แต่คนขับประคองไว้ได้ วันที่ 21 สิงหาคม 2564 คนงานหล่นจากคานยกระดับพระราม 2 ช่วง กิโลเมตร 19 เสียชีวิต คาดการณ์ว่าเหตุเกิดขึ้นเพราะคนงานถอดเข็มขัดนิรภัยออก