หอการค้าไทยเผยผลสำรวจ ปชช.รับได้ซื้อเสียงเลือกตั้ง อบจ. มองเรื่องปกติการเมืองท้องถิ่น

วันที่ 26 พ.ย. 2567 เวลา 17:44 น.

เลือกตั้ง อบจ. ปี 68 คาดเงินซื้อเสียงสะพัด เฉลี่ย 903 บาทต่อคน ปชช.เกินครึ่ง รับได้ทุจริตซื้อเสียง มองเป็นเรื่องปกติ การเมืองท้องถิ่น วันที่ 26 พ.ย. 67 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย), มูลนิธิเพื่อคนไทย, กองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย, สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน, สถาบันพระปกเกล้า และ HAND SOCIAL ENTERPRISE แถลงข่าวผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการเลือกตั้งนายก อบจ. รศ.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษาประจำสภามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า มีการเก็บตัวอย่างความคิดเห็นจากประชาชน 2,017 คนทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 1-11 ต.ค. 67 พบว่า ส่วนใหญ่เชื่อว่า การเลือกตั้งนายก อบจ.ครั้งนี้ จะมีการซื้อเสียงอย่างแน่นอน โดยร้อยละ 68 เกิดขึ้นทั่วไป, ร้อยละ 27.3 เกิดขึ้นบางพื้นที่ ซึ่งมีเพียงร้อยละ 4.7 เท่านั้น ที่เชื่อว่าจะไม่มีการซื้อเสียง ทั้งนี้ การซื้อเสียงครั้งนี้ มีราคาเฉลี่ยอยู่ 903 บาทต่อคน โดยภาคกลางเป็นพื้นที่พบราคาซื้อเสียงเฉลี่ยมากที่สุด  1,291 บาทต่อคน รองลงมา คือ ภาคใต้ 1,016 บาทต่อคน และภาคเหนือ 907 บาทต่อคน อย่างไรก็ตาม คาดว่า หากมีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ร้อยละ 65 หรือประมาณ 18 ล้านคน ใน 46 จังหวัด จะมีเงินซื้อเสียงสะพัดกว่า 1 หมื่น 6 พันล้านบาท ขณะที่การซื้อเสียงสามารถชักจูงให้ประชาชนเลือกผู้สมัครที่ให้เงินได้ ร้อยละ 58.7 มีเพียงร้อยละ 41.3 ที่เชื่อว่า ชักจูงไม่ได้ ที่น่าตกใจ คือ ประชาชนเกินครึ่ง หรือร้อยละ 63.7 ยอมรับได้ในการซื้อเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.และสมาชิก อบจ. เพราะมองเป็นเรื่องปกติ ในการเลือกตั้งท้องถิ่น (ร้อยละ 87) อีกกลุ่มหนึ่งมองเป็นสินน้ำใจ และค่าเดินทาง (ร้อยละ 13) มีเพียงร้อยละ 32.7 ยอมรับไม่ได้ ให้มีการซื้อเสียง เพราะมองว่าเป็นการทุจริต (ร้อยละ 42) คดโกงคะแนนเสียง (ร้อยละ 32) เป็นจุดเริ่มต้นของการคอร์รัปชัน (ร้อยละ 15) และขายสิทธิขายเสียง (ร้อยละ 11) ที่น่าสนใจ คือ เมื่อรับเงินแล้ว จะเลือกคนที่จ่ายเงินให้หรือไม่ พบว่า ร้อยละ 56 ไม่เลือก เพราะต้องการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน มีเพียงร้อยละ 44 เท่านั้น ที่ยืนยันว่าจะไปเลือก เพราะความคุ้นเคย และได้รับเงินมาแล้ว แต่หากอยากให้เปลี่ยนใจให้เลือกผู้สมัครคนอื่น ต้องจ่ายเงินสูงถึง 2,784 บาท เพราะมองว่าเป็นการให้เงินมากกว่าคู่แข่ง ต้องการเงินของผู้รับ และต้องการเปลี่ยนแปลง หาทางเลือกใหม่ ที่น่ากังวล คือ ร้อยละ 41 พร้อมจะเลือกผู้สมัครที่เคยมีประวัติทุจริต ซึ่งเป็นสัดส่วนใกล้เคียงกับผู้ไม่เลือกที่มีอยู่ร้อยละ 41.2 ท้ายที่สุด กลุ่มภาคีเครือข่าย มีข้อเสนอเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่นและการพัฒนาจังหวัด ว่าต้องเร่งกระจายความเจริญสู่ท้องถิ่นผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ส่งเสริมการสร้างงาน และเพิ่มรายได้ชุมชน ยกระดับศักยภาพพื้นที่แบบองค์รวม ครอบคลุมด้านเศรษฐกิจ การพัฒนาทักษะแรงงาน และการศึกษา เพื่อสร้างความเข้มแข็งยั่งยืน กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาในพื้นที่อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ พร้อมจัดลำดับความสำคัญของการแก้ปัญหาตามความเร่งด่วน ตลอดจนบริหารจัดการงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ คำนึงถึงความคุ้มค่าและประโยชน์สูงสุด และต้องสรรหาและคัดเลือกผู้แทนที่มีความรู้ความสามารถ มีคุณธรรม และเข้าใจบริบทของพื้นที่อย่างแท้จริง