รองโฆษกเพื่อไทย ยันแจกเงินหมื่นเฟส 2 ไม่เกี่ยวเลือกนายก อบจ.

วันที่ 22 พ.ย. 2567 เวลา 09:28 น.

“รองโฆษกเพื่อไทย” ยันแจกเงินหมื่นเป็นนโยบายรัฐบาล ไม่เกี่ยวเลือกนายก อบจ. แนะ “นิพนธ์ - รัชนก” ทวนความจำ นโยบายถูกปรับให้เหมาะตามข้อเสนอแนะ (22 พ.ย.67) น.ส.ชญาภา สินธุไพร สส.ร้อยเอ็ด และรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่นายนิพนธ์ บุญญามณี อดีต สส. พรรคประชาธิปัตย์ และน.ส.รัชนก ศรีนอก สส.พรรคประชาชน ให้ข้อมูลที่อาจสร้างความเข้าใจผิดให้กับสังคมว่า การดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 เฟส 2 ให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ ที่คาดว่าจะได้รับเงินไม่เกินช่วงตรุษจีน ซึ่งใกล้กับช่วงการเลือกตั้งนายก และ อบจ.ทั่วประเทศนั้น เป็นการจับแพะชนแกะ ตั้งใจทำให้เกิดความสับสน หากทั้งสองท่าน ทบทวนความทรงจำให้ดี นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เป็นนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทยที่ใช้ในการหาเสียงปี 2566 เมื่อเป็นรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 แถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภาตั้งแต่วันที่ 11 กันยายน 2566  นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 12 กันยายน 2567 โครงการนี้ฝ่าคลื่นลมเสียงวิพากษ์วิจารณ์และถูกปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม จนท้ายที่สุดก็ได้ดำเนินโครงการนี้จนสำเร็จในเฟส 1 และกำลังเดินหน้าเฟส 2 จากการลงพื้นที่พูดคุยกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ จ.ร้อยเอ็ด และยิ่งในเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ได้รับเงินหมื่นเฟส 1 พวกเขาต่างดีใจที่ได้เงินเป็นทุนต่อชีวิต ต่อลมหายใจ ประชาชนบางรายนำเงินไปซื้อต้นทุนทางการเกษตร พันธุ์ข้าว เครื่องมือทางการเกษตร ไม่เพียงได้เงินไปหล่อเลี้ยงตัวเอง ยังได้นำไปเริ่มต้นธุรกิจเล็ก ๆ ชุบชีวิตให้กับคนในครอบครัวอีกด้วย น.ส.ชญาภา กล่าวอีกว่า จากนโยบายเงินหมื่น เมื่อรวมเข้ากับอีกหลายนโยบายจาก 2 นายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ทั้งวีซาฟรีหลายประเทศ , การส่งเสริมการท่องเที่ยว, การเจรจาการค้าการลงทุนจากประเทศ จนสร้างเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศหลายแสนล้านบาท รวมถึงการลงทุนภาครัฐและเอกชน และอื่น ๆ มากมาย เมื่อรวมเข้ากับนโยบายเงินหมื่นกระตุ้นเศรษฐกิจ ล้วนเป็นส่วนช่วยผลักดันจีดีพีในไตรมาส 3 ปีนี้ให้เติบโตขึ้น 3% หากเฟส 2 ดำเนินต่อ มั่นใจว่าจะทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้นตามไปด้วย รองโฆษกพรรคเพื่อไทย ระบุอีกว่า นี่คือฝีมือการบริหารแบบเพื่อไทย ที่ถือว่าผลิตออกดอกออกผลชัดเจน รัฐบาลดำเนินการทุกงานอย่างมียุทธศาสตร์ ในการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิต การลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน ปัญหาเกิดขึ้นระหว่างทางย่อมยอมรับได้ แต่ไม่ใช่การตั้งข้อสังเกตเสียจน ลืมมองถึงความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน เงินหมื่นของท่านกับเงินหมื่นของประชาชนอาจไม่เท่ากัน