เกษตรกรกุมขมับ หอมแดงราคาตกต่ำ

วันที่ 21 พ.ย. 2567 เวลา 07:39 น.

สนามข่าว 7 สี - มาดูความทุกข์ของเกษตรกร ตอนนี้เดือดร้อนหนัก เพราะเจอปัญหาต้นทุนการเพาะปลูกสูง สวนทางกับราคาผลผลิตที่ตกต่ำ เกษตรกรกุมขมับ หอมแดงราคาตกต่ำ นายเย้ง แซ่ยั้ง เกษตรกร พื้นที่ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก ตัดสินใจเก็บหอมแดงที่ปลูกไว้ 40 ไร่ ไปแขวนเก็บไว้ที่บ้าน ไม่เก็บแล้วขายทันทีเหมือนทุกปีที่ผ่านมา เพราะปีนี้พ่อค้ารับซื้อหอมแดง ราคา 20-25 บาทต่อกิโลกรัม ถ้าตัดสินใจขายอาจขาดทุน นายเย้ง บอกว่า ลงทุนซื้อพันธุ์หอมแดงมาปลูกกิโลกรัมละ 100 บาท เมื่อเดือนสิงหาคม 2567 จากนั้นสภาพอากาศใน อำเภอพบพระ ค่อนข้างแปรปรวน เดี๋ยวหนาว เดี๋ยวฝนตก ส่งผลกระทบต่อการปลูกหอมแดง ต้องพ่นยาฆ่าเชื้อราบ่อยครั้ง ทำให้ต้นทุนการปลูกสูงมาก ตกไร่ละ 30,000 บาท หากขายก็ไม่คุ้มทุน เคราะห์ดีที่หอมแดงถอนแล้วเก็บไว้ได้นาน เลยแขวนไว้รอจนกว่าจะราคาดี ถึงค่อยนำออกขาย ชาวนาโวย รัฐบาลช่วยไร่ละ 500 บาท ไม่พอ ส่วนชาวนาในอำเภอเมืองชัยนาท เจอปัญหาต้นทุนการปลูกข้าวแพงเหมือนกัน ทั้งค่าน้ำมัน ค่าเช่ารถไถ-รถเกี่ยวข้าว ค่าปุ๋ย ค่าแรงคนงาน เฉลี่ยไร่ละ 6,000 บาท สวนทางกับราคารับซื้อข้าวเปลือก เหลือตันละ 8,000-8,200 บาท จึงเรียกร้องให้รัฐบาล ทบทวนวงเงินช่วยเหลือ จาก 500 บาทต่อไร่ เป็น 1,000 บาทต่อไร่ ลงแรงตีข้าวเอง ลดค่าจ้างคน ลุงรอด-ป้าเป็ง สวนบุตร ชาวนา อำเภอเมืองแพร่ หันมาลงแรงเกี่ยวและตีข้าวเอง ซึ่งเป็นวิธีเก็บเกี่ยวแบบโบราณ ปัจจุบันไม่ค่อยมีให้เห็นแล้ว เหตุผลที่ทั้งคู่ หันมาใช้วิธีโบราณ เพื่อลดต้นทุนการปลูกข้าว โดยเฉพาะค่่าจ้างแรงงาน คนละ 400-500 บาทต่อวัน ลุงรอด บอกว่า ทำนาแบบโบราณไม่มีขาดทุนแน่นอน เพราะทุกขั้นตอนพึ่งพาตัวเอง ทุกวันนี้ปลูกข้าวแค่พอเก็บไว้กิน ประมาณ 1-2 ไร่ ถ้าผลผลิตเยอะ กินไม่หมด ก็เอามาขายบ้าง หลังเกี่ยวเก็บเสร็จก็ปลูกข้าวโพดต่อตามรอบที่เคยทำ ถือเป็นวิธีที่ดี ชาวนาคนไหนอยากลดต้นทุนก็ลองเปลี่ยนมาทำนาแบบโบราณกันดู