ตำรวจกองปราบ ยื่นผัดฟ้องคดี “เชนธนา-อมาโด้” ฉ้อโกง 79 ล้านบาท
วันที่ 20 พ.ย. 2567 เวลา 19:07 น.
ศาลอนุญาต ผัดฟ้องคดี “เชนธนา-อมาโด้” ฉ้อโกง 79 ล้านบาท หลังตำรวจกองปรามยื่นคำร้อง ขณะที่เจ้าตัวให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา ขอสู้คดี วันนี้ (20 พ.ย.67) ที่ศาลแขวงพระนครใต้ ถนนเจริญกรุง พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปราม ได้ยื่นคำร้องผัดฟ้องผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ในคดีที่มีการกล่าวหาบริษัท อมาโด้ กรุ๊ป จำกัด โดยนายธนาตรัยฉัตร ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจ, นายธนาตรัยฉัตร หรือเชน อดีตนักร้องชื่อดัง และ น.ส.กาลกัลยา เป็นผู้ต้องหาที่ 1-3 ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง โดยคำร้องผัดฟ้องระบุพฤติการณ์ สรุปว่า เมื่อวันที่ 18 พ.ย.67 เวลา 14.00 น. พนักงานสอบสวนกองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปราม ได้แจ้งข้อกล่าวหา บริษัท อมาโด้ กรุ๊ป จำกัด โดย นายธนาตรัยฉัตร ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจ ผู้ต้องหาที่ 1 กับพวก รวม 3 คน ทราบว่ากระทำความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง โดยพฤติการณ์คือ เมื่อวันที่ 8 ก.พ.64 นายธนาตรัยฉัตร ผู้ต้องหาที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท อมาโด้ กรุ๊ป จำกัด ผู้ต้องหาที่ 1 ได้สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเสริมชื่อ "ยินตัน บิฟิน่า อีเอ็กซ์" จากบริษัท ไทยยินตัน จำกัด จำนวน 3,000,000 ซอง ในราคาซองละ 19 บาท คิดเป็นเงินจำนวน 57 ล้านบาท โดยบริษัท ไทยยินตัน จำกัด เป็นผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมาให้ผู้ต้องหาที่ 1 เป็นผู้จัดจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียว และเริ่มทยอยส่งมอบสินค้า ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมดังกล่าวให้แก่ผู้ต้องหาที่ 1 เป็นครั้งที่ 1 จำนวน 85,000 ซองเมื่อวันที่ 1 มี.ค.64 พยานได้รับการติดต่อจากนางกาลกัลยา ผู้ต้องหาที่ 3 แจ้งเรื่องสีของสินค้าว่ามีความแตกต่างจากตัวอย่างของสินค้าที่บริษัทไทยยินตันฯ ได้นำเสนอไว้ต่อผู้ต้องหาที่ 1 กับพวก พยานจึงได้อธิบายว่าสีของสินค้าที่ผู้ต้องหาที่ 1 ได้รับเป็นไปตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุญาตให้จำหน่าย ต่อมาวันที่ 9 มี.ค.64 บริษัท ไทยยินตันฯ ได้ส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ต้องหาที่ 1 เป็นครั้งที่ 2 จำนวน 315,000 ชอง และในวันเดียวกัน ผู้ต้องหาที่ 1 ได้สั่งซื้อสินค้าผลิตภัณฑ์อาหารเสริมชื่อ "ยินตัน บิฟิน่า อีเอ็กซ์" จำนวน 4,200,000 ซอง คิดเป็นเงินจำนวน 79,800,000 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งห่างจากการสั่งซื้อสินค้าครั้งที่ 1 เพียงประมาณ 1 เดือน จากนั้นเรื่อยมาบริษัท ไทยยินตันฯ ได้ทยอยจัดส่งสินค้าตามคำสั่งซื้อครั้งที่ 1 จนครบจำนวน 3 ล้านซองในวันที่ 1 มิ.ย.64 ต่อมาวันที่ 14 ส.ค.64 บริษัท ไทยยินตันฯ ได้ขอยกเลิกสัญญาที่ผู้ต้องหาที่ 1 ว่าจะจ้างผลิตสินค้า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชื่อ “ยินตัน บิฟิน่า อีเอ็กซ์” เนื่องจากมีสาระสำคัญที่ระบุไว้ในสัญญาไม่ตรงกับการดำเนินการทางธุรกิจระหว่างกัน ผู้ต้องหาที่ 1 จึงได้เสนอให้มีการจัดทำสัญญาซื้อขายฉบับใหม่ขึ้น โดยผู้ต้องหาที่ 1 เป็นผู้จัด ฉบับลงวันที่ 15 ส.ค.64 จากนั้น บริษัท ไทยยินตันฯ ได้ทยอยจัดส่งสินค้าตามคำสั่งซื้อครั้งที่ 2 จนครบจำนวน 4.2 ล้านซอง ในวันที่ 30 มี.ค.65 ต่อมาพยานได้รับการติดต่อจากผู้ต้องหาที่ 3 เพื่อขอขยายการชำระเงินค่าสินค้าจากเดิม 30 วัน เป็น 90 วัน และจาก 90 วัน เป็น 120 วัน โดยจะครบในวันที่ 28 ก.ค.65 แต่ผู้ต้องหาที่ 1 ได้ส่งหนังสือ ฉบับลงวันที่ 27 ก.ค.65 มายัง บริษัทไทยยินตันฯ แจ้งว่ามีปัญหาเรื่องการรับรองเอกสารเกี่ยวกับลักษณะของสินค้า และอ้างปัญหาสถานการณ์โรคโควิด 19 ที่ส่งผลกระทบเชิงลบกับสถานการณ์การประกอบธุรกิจ บริษัท ไทยยินตันฯ จึงส่งหนังสือแจ้งให้ผู้ต้องหาที่ 1 ชำระเงินค่าสินค้า แต่ผู้ต้องหาที่ 1 กลับส่งหนังสือแจ้งมายังบริษัท ไทยยินตันฯ ว่าบริษัท ไทยินตันฯ ผิดสัญญา เพราะได้พรรณณาสรรพคุณของสินค้าไม่ตรงความเป็นจริง และแจ้งเตือนบริษัท ไทยยินตันฯ ในประเด็นเรื่องการผิดสัญญา ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว บริษัท ไทยยินตันฯ ไม่เคยได้รับการติดต่อจากผู้ต้องหาที่ 1 กับพวกว่า สินค้าไม่ถูกต้องตามสัญญา และไม่เคยแจ้งเรื่องขอคืนสินค้าแต่อย่างใด บริษัท ไทยยินตันฯ จึงเชื่อว่า ผู้ต้องหาที่ 1 กับพวก ไม่ได้มีเจตนาทำสัญญาซื้อขายสินค้ามาตั้งแต่แรก เพียงแต่นำสัญญาซื้อขายมาใช้เป็นวิธีการหลอกลวงให้บริษัท ไทยยินต้นฯ ส่งมอบสินค้าผลิตภัณฑ์อาหารเสริมชื่อ "ยินตัน บิฟิน่า อีเอ็กซ์" เท่านั้น เป็นเหตุให้บริษัท ไทยยินตันฯ ได้รับความเสียหาย รวมเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 79.8 ล้านบาท บริษัท ไทยยินตันฯ โดย นายนริศจึงมอบอำนาจให้ นายอานุภาพ ใจแสนภักดี ผู้กล่าวหาที่ 1 มาแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีกับ ผู้ต้องหาที่ 1 กับพวก ตามกฎหมายจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ต่อมา พนักงานสอบสวนได้รับหนังสือจากสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 4 (ยานนาวา) ที่ อส 0024,4/3015 ลงวันที่ 29 ก.ย.67 แจ้งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการแจ้งสิทธิ แจ้งข้อกล่าวหา แจ้งข้อเท็จจริงให้แก่ผู้ต้องหาที่ 1, ผู้ต้องหาที่ 2 และผู้ต้องหาที่ 3 เนื่องจากพนักงานอัยการได้พิจารณาแล้วมีความเห็นสั่งฟ้อง ผู้ต้องหาที่ 1-3 ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ต้องหาที่ 1- 3 ทราบแล้ว ในชั้นสอบสวน ผู้ต้องหาที่ 1-3 ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและได้ปล่อยตัวไปโดยมิได้ควบคุม จึงไม่ได้นำตัวมาปรากฏต่อศาลด้วย โดยพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนมาจะครบ 48 ชั่วโมงแล้ว แต่การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น เนื่องจากต้องรอผลตรวจประวัติลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ต้องหาที่ 1-3 จึงขออนุญาตผัดฟ้องผู้ต้องหาที่ 1-3 ระหว่างการสอบสวน มีกำหนด 6 วัน นับแต่วันที่ 20-25 พ.ย.67 โดยภายหลังศาลแขวงพระนครใต้ รับผัดฟ้องผู้ต้องหา ครั้งที่ 1 เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ ผ.451/2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีศาลแขวงสามารถผัดฟ้องได้ 5 ผัด ผัดละ 6 วัน (รวม 30 วัน) ถ้ายังไม่สามารถยื่นฟ้องผู้ต้องหาได้ทันก่อนครบกำหนดผัดฟ้อง หากมีคำสั่งยื่นฟ้องภายหลังจะต้องขออนุญาตอัยการสูงสุดฟ้อง