สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ดังนี้
วันที่ 13 พ.ย. 2567 เวลา 20:03 น.
เวลา 08.50 น. วันนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปหอประชุมพ่อขุนรามคำแหงมหาราช มหาวิทยาลัยรามคำแหง ทรงเปิดการประชุมวิชาการการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี 2567 ในหัวข้อ "44 ปี พระเมตตา พัฒนาการศึกษา รักษ์วัฒนธรรมและภูมิปัญญา รากฐานความมั่นคงของชาติ" โดยกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 12-13 พฤศจิกายนนี้ เพื่อเฉลิมพระเกียรติและเผยแพร่พระราชกรณียกิจด้านการศึกษาและการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน และส่งเสริมการพัฒนาแนวความคิดให้กับบุคลากรครูและผู้ปฏิบัติงานในโครงการตามพระราชดำริในสถานศึกษาตามแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ให้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ในการปฏิบัติงาน มีหน่วยร่วมสนองงานโครงการตามพระราชดำริ 11 หน่วยงาน มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 1,500 คน โอกาสนี้ พระราชทานเกียรติบัตรแก่คณะครูผู้ชนะเลิศ การประกวดแนวปฏิบัติที่ดี และมีพระราชดำรัสเปิดการประชุม จากนั้น ทอดพระเนตรการนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดี ด้านวัฒนธรรมและภูมิปัญญา ของสถานศึกษา 7 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เรื่อง "รักษ์คำเมือง" จากโรงเรียนวังฟ่อนวิทยา จังหวัดแพร่ เนื่องจากปัจจุบันสามเณรนักเรียนส่วนใหญ่ใช้ภาษาไทยกลางในการสื่อสารทำให้ไม่สามารถพูดและเข้าใจความหมายของคำเมือง ครูจึงรวบรวมศัพท์จากปราชญ์ชาวบ้านออกแบบกิจกรรมให้สามเณรนักเรียนมีส่วนร่วม ผลที่ได้สามารถนำความรู้ไปสื่อสารกับคนในชุมชน และสืบทอดคำสอนทางพระพุทธศาสนาผ่านการเทศนาเป็นกำเมือง, สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร เสนอเรื่อง "ยอดนักกวี กาพย์ยานี 11 ในสวนพฤกษศาสตร์" ของโรงเรียนวัดบึงทองหลาง พิทักษ์วิทยาคาร ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับพรรณไม้ และยังส่งเสริมจินตนาการในการแต่งบทกวี, ศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านแผ่นดินเสมอ จังหวัดกระบี่ เสนอเรื่อง "เสียงกล่อมมนต์เสน่ห์ ประเพณีขึ้นแปลเด็ก" ที่คนภาคใต้สืบต่อมายาวนาน การที่นักเรียนสามารถร้องเพลงกล่อมเด็กได้ ทำให้เห็นคุณค่า ความผูกพันในครอบครัว เรียนรู้ประเพณี วัฒนธรรมในท้องถิ่น และอนุรักษ์ให้คงอยู่, กรมส่งเสริมการเรียนรู้ เสนอเรื่อง "ข้าวปุกดอยสูตรธัญพืช เพื่อสุขภาพ" ของศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขา "แม่ฟ้าหลวง" บ้านป่ากล้วย จังหวัดเชียงใหม่, สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เรื่อง "รู้รักษ์ วัฒนธรรมพื้นบ้าน ปี่พาทย์มอญปทุมธานี" ของโรงเรียนอนุบาลปทุมธานี เห็นความสำคัญของปี่พาทย์ที่กำลังจะสูญหาย ตั้งเป็นชมรมทำให้นักเรียนรัก และภาคภูมิใจที่จะอนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นบ้าน, สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เรื่อง "การใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นสืบสานศิลปะการแสดงปันจักสีรัต" จากโรงเรียนจรรยาอิสลาม จังหวัดนราธิวาส ศิลปะการต่อสู้ของคนเชื้อสายมลายู ที่ผสมผสานระหว่างการป้องกันตัวและการเต้นรำ โดยตั้งเป็นชมรม และเรื่อง "แปลงร่างผ้าทอปกาเกอะญอถ้ำเสือ" โดยโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านถ้ำเสือ จังหวัดตาก ที่ฝึกนักเรียนทอผ้าชนเผ่าเพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น เพิ่มมูลค่า สร้างรายได้ให้ครอบครัว และวางแผนจะตั้งเป็นกองทุนหมุนเวียนต่อไป จากนั้น ทอดพระเนตรการแสดงโขนจิ๋ว ของนักเรียนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ที่แสดงให้เห็นถึงศิลปะชั้นสูงของไทย สืบทอดมาอย่างยาวนาน ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับทอดพระเนตรนิทรรศการวัฒนธรรมและภูมิปัญญา รากฐานความมั่นคงของชาติ นำเรื่องภูมิปัญญา วัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น มาพัฒนาเด็กและเยาวชนควบคู่ไปกับการศึกษาตามหลักสูตร ส่วนนิทรรศการนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กและเยาวชน ตามพระราชดำริ ของหน่วยงานสนับสนุนทั้ง 11 หน่วยงาน เป็นส่วนหนึ่งให้บุคลากรครู และผู้ปฏิบัติงานได้แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และร่วมกันกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหา พร้อมกับร่วมกันพัฒนากระบวนการการทำงานให้เหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษา อาทิ กรมส่งเสริมการเกษตร เรื่อง "แนวทางการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร สู่รากฐานการทำเกษตร ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม", กรมปศุสัตว์ พัฒนาพันธุ์ไก่ไข่ด่านซ้าย เพื่อยกระดับการผลิตอาหารโปรตีนแก่เด็กและเยาวชน และจะขยายผลสู่ชุมชน, กรมส่งเสริมสหกรณ์ ใช้ Application ช่วยสอนเรื่อง "สหกรณ์นักเรียน" โดยป้อนคำศัพท์ของวิชาสหกรณ์ ลงในสุ่มวงล้อคล้ายกิจกรรม Bingo ทำให้สนุกสนานเพลิดเพลิน ทั้งยังได้ฝึกทักษะการพูดและการนำเสนอด้วย เวลา 14.30 น. เสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงแรม เดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพมหานคร ทรงเปิดการประชุมวิชาการวัคซีนแห่งชาติ ครั้งที่ 11 ซึ่งสถาบันวัคซีนแห่งชาติ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 พฤศจิกายน 2567 ภายใต้แนวคิด "วัคซีนภายใต้บริบทโลกไร้พรมแดน" เพื่อเผยแพร่ความรู้ ความก้าวหน้าทางวิชาการ นโยบาย และทิศทางการดำเนินงานด้านวัคซีน ทั้งด้านงานวิจัย การผลิต การประกันและควบคุมคุณภาพ การบริหารจัดการในการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค รวมทั้ง เป็นเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เครือข่ายพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ ในการนี้ พระราชทานรางวัลผู้ทำคุณประโยชน์ในการพัฒนางานด้านวัคซีน ประจำปี 2567 จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงกุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และองค์การเภสัชกรรม โดยเป็นรางวัลที่ยกย่อง เชิดชู สนับสนุน และให้กำลังใจแก่บุคคลหรือหน่วยงานที่มีผลงานการสร้างองค์ความรู้ด้านวัคซีนที่มีคุณค่าเป็นที่ประจักษ์ ได้รับการยอมรับทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ ภายในงานจัดแสดงนิทรรศการของสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และหน่วยงานเครือข่าย โดยประเทศไทยมีความร่วมมือทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อส่งเสริมการพัฒนางานด้านวัคซีนในทุกมิติ มุ่งหวังให้เกิดความมั่นคงด้านสุขภาพผ่านการป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพ อาทิ ด้านการวิจัยพัฒนา มีความร่วมมือหลายระดับตั้งแต่การวิจัยพื้นฐานในห้องปฏิบัติการ การทดลองในสัตว์ และการทดสอบในมนุษย์, ด้านการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจัดข้อมูลและความรู้ด้านวัคซีน เพื่อสร้างความรอบรู้ให้ประชาชน ช่วยลดความสูญเสีย และสร้างภูมิคุ้มกันทางความรู้อย่างยั่งยืน ทั้งยังมีการอภิปรายโดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญชาวไทยและชาวต่างชาติในหัวข้อต่าง ๆ อาทิ เรื่อง "ความพร้อมของประเทศไทย กับการรับมือโรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำ", การสร้างความร่วมมือระดับนานาชาติ: การรับมือโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนในภาวะปกติและภาวะโรคระบาด, พัฒนาการของเทคโนโลยีการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์วัคซีนและการจัดการทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึง การนำเสนอผลงานทางวิชาการ