สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ที่จังหวัดระยอง ระหว่างวันที่ 11-12 พฤศจิกายน 2567

วันที่ 11 พ.ย. 2567 เวลา 20:02 น.

เวลา 08.20 น. วันนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปอาคารเรียนรวมวิทยสิริเมธี สถาบันวิทยสิริเมธี อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันวิทยสิริเมธี ระดับดุษฎีบัณฑิตและมหาบัณฑิต ประจำปีการศึกษา 2566 จำนวน 34 คน และพระราชทาน "ทุนพระราชทานศรีเมธี" แก่นิสิตที่มีผลการเรียนดีเยี่ยม 7 คน กับพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้แทนนักเรียนโรงเรียนกำเนิดวิทย์ ที่สำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ประจำปีการศึกษา 2566 จำนวน 72 คน กลุ่ม ปตท. ตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการศึกษาและการพัฒนาองค์ความรู้ด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ จึงร่วมกันจัดตั้งโรงเรียนกำเนิดวิทย์ หรือ KVIS ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และสถาบันวิทยสิริเมธี หรือ VISTEC ระดับบัณฑิตศึกษา (ปริญญาโทและปริญญาเอก) เมื่อปี 2558 ในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง ที่ผ่านมา สถาบันวิทยสิริเมธี ผลิตมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตที่มีคุณภาพ มีความสามารถสูงไปแล้ว 169 คน สร้างสรรค์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีศักยภาพ ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ กว่า 1,650 ผลงาน เน้นผลักดันผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์จริง ผ่านโครงการวิจัยร่วมกับภาครัฐและเอกชน ผลงานวิจัยนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม ส่งผลให้สถาบันฯ ได้รับการยอมรับทั้งในและต่างประเทศ ส่วนโรงเรียนกำเนิดวิทย์ มีนักเรียนสำเร็จการศึกษาไปแล้ว 7 รุ่น รวม 493 คน ศึกษาต่อด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ร้อยละ 68 และด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ร้อยละ 31 โอกาสนี้ พระราชทานพระราโชวาท ความว่า "บัณฑิตทุกคนกว่าจะสำเร็จการศึกษา ต้องอาศัยความพากเพียรพยายาม ความมุ่งมั่น ความตั้งใจและทุ่มเทอย่างมากในการศึกษาเล่าเรียน บัณฑิตทุกคนอย่าได้ละทิ้งคุณสมบัติที่ว่านี้ เพราะจะสามารถนำไปใช้เมื่อประกอบอาชีพการงานได้เป็นอย่างดี แม้เมื่อมีปัญหาหรืออุปสรรคในหน้าที่การงาน หรือการดำเนินชีวิต คุณสมบัติดังกล่าว ผนวกกับสติปัญญาความมีเหตุมีผล รู้แยกแยะผิดชอบชั่วดีกระจ่างแจ้ง จะช่วยให้คลี่คลายปัญหาหรืออุปสรรคทั้งหลายสำเร็จด้วยดี ทั้งจะมีความเจริญในหน้าที่การงาน มีชีวิตที่ดี ไม่เสื่อมทรามตกต่ำ" หลังพิธีพระราชทานปริญญาบัตร และประกาศนียบัตรแล้ว ได้ทอดพระเนตรการแสดงขับร้องเพลงประสานเสียงของนักเรียนโรงเรียนกำเนิดวิทย์ และนิสิตสถาบันวิทยสิริเมธี เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ 2 บทเพลง คือ Still on my mine, รัก และเพลง Something Good เวลา 09.35 น. เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดอาคารปฏิบัติการต้นแบบ หรือ อาคาร GPSC Pilot Plant N-3 ณ สถาบันวิทยสิริเมธี มีบริษัท โกลบอลเพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) สนับสนุนการก่อสร้าง เพื่อเป็นสถานที่ทดลอง พัฒนาเทคโนโลยีระดับนำร่อง ก่อนเข้าสู่การผลิตในระดับอุตสาหกรรม เปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษา คณาจารย์ และผู้ประกอบการ นำงานวิจัยที่คิดประดิษฐ์ขึ้นทดลองในห้องปฏิบัติการ เพื่อพัฒนาไปสู่งานวิจัยที่จะผลิตออกสู่เชิงพาณิชย์ได้จริง ช่วยลดความเสี่ยง และลดต้นทุนการเริ่มธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนสามารถศึกษาวิจัย เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรม และผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ในระดับอุตสาหกรรม โอกาสนี้ ทอดพระเนตรนิทรรศการผลงานวิชาการ งานวิจัยและนวัตกรรม ตลอดระยะเวลา 10 ปีของสถาบันวิทยสิริเมธี มุ่งผลิตงานวิจัยคุณภาพสูงในระดับสากล ทำให้ Nature Index และ Computers Science Ranking จัดอันดับให้เป็นสถาบันฯ ที่ 1 ของประเทศไทย ที่มีผลงานชั้นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ โดยหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของสถาบันฯ คือ ผลักดันให้งานวิจัยที่มีศักยภาพ สู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ที่ผ่านมา มีผลงานวิจัยยื่นขอรับสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว กว่า 100 ผลงาน นอกจากนี้ ยังมี "นิทรรศการโรงงานต้นแบบสำหรับกระบวนการเพิ่มมูลค่าไบโอเอทานอลเป็นสารเคมีหรือวัสดุมูลค่าเพิ่มแบบครบวงจร" มุ่งเน้นการพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาซีโอไลต์แบบสองมิติ เพื่อใช้ในกระบวนการผลิตเชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม, นิทรรศการ Robotic Project มุ่งเน้นวิจัยหุ่นยนต์ เพื่อประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เช่น หุ่นยนต์ด้านการแพทย์, หุ่นยนต์สำรวจ ตรวจจับรอยแตกร้าวในถังแรงดัน เพื่อเพิ่มความปลอดภัย และป้องกันการเกิดอุบัติเหตุในอุตสาหกรรม สถาบันวิทยสิริเมธี มีศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นแนวหน้า มี 4 สำนักวิชา ได้แก่ สำนักวิชาวิทยาการโมเลกุล สำนักวิชาวิทยาการพลังงาน สำนักวิชาวิทยาการชีวโมเลกุล สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ผลิตบุคลากรที่มีศักยภาพสูง ด้านการวิจัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรม เพื่อรองรับการเติบโตด้านเศรษฐกิจ ส่งเสริมความยั่งยืนแก่สังคมและสิ่งแวดล้อม ในตอนบ่าย เสด็จพระราชดำเนินไปโรงเรียนกำเนิดวิทย์ โอกาสนี้ พระราชทานพระราชวโรกาสให้ นายคงกะพัน อินทรแจ้ง ประธานกรรมการมูลนิธิพลังงานสร้างสรรค์นวัตกรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กราบบังคมทูลรายงานความก้าวหน้า 10 ปี โรงเรียนกำเนิดวิทย์ และโครงการห้องปฏิบัติการทางเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ในการนี้ ทรงเปิด "ห้องปฏิบัติการทางเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI and Mechatronics Lab KVIS)" โดย ปตท. จัดสร้างห้องปฏิบัติการแห่งนี้ขึ้น เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนได้พัฒนาทักษะด้านปัญญาประดิษฐ์และวิทยาการหุ่นยนต์ที่จำเป็นสำหรับอนาคต เน้นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และระบบกลไกสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ ๆ ในยุคดิจิทัล จากนั้น ทอดพระเนตรการพัฒนาการเรียนการสอนเชิงปฏิบัติการ อาทิ การเรียนการสอนด้านปัญญาประดิษฐ์และวิทยาการหุ่นยนต์ เพื่อศึกษาแนวคิดพื้นฐานและความสำคัญของปัญญาประดิษฐ์และวิทยาการหุ่นยนต์ รวมถึงฝึกปฏิบัติจริง เพื่อให้เกิดเจตคติที่ดีต่อเทคโนโลยี AI และหุ่นยนต์ และตระหนักถึงการใช้เทคโนโลยีอย่างมีจริยธรรม ปัจจุบันสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์ มีบทบาทต่อชีวิตประจำวัน ช่วยทำงานและอำนวยความสะดวกให้กับคนทั่วโลก ส่วนวิทยาการหุ่นยนต์ มีความแม่นยำและฉลาดมากขึ้น ช่วยลดปัญหาความผิดพลาดการทำงานของมนุษย์ และทอดพระเนตรการเรียนการสอนของกลุ่มวิชา Human Sciences บูรณาการข้ามสายวิชาระหว่างภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ และศิลปะ ส่งเสริมให้นักเรียนได้ทำกิจกรรมกลุ่มร่วมกัน ได้แสดงแง่คิดที่มีเหตุมีผล และมุมมองต่อสังคมเชิงบวก, การแสดง "ระบำมยุราภิรมย์" ของนักเรียนหญิงที่สนใจด้านนาฏศิลป์ไทย คิดท่ารำและแต่งกายเป็นนกยูง สัตว์ปีกที่พบมากในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์, การเรียนการสอนธรรมชาติและการสืบเสาะทางวิทยาศาสตร์ เป็นการเรียนพื้นฐานช่วยให้นักเรียนมีกระบวนการคิดเป็นขั้นเป็นตอน ต่อยอดไปสู่การตั้งโจทย์การวิจัยได้ต่อไป ตลอด 10 ปี ที่ผ่านมา โรงเรียนกำเนิดวิทย์ มุ่งเน้นผลิตนักเรียนชั้นมัธยมปลายที่มีมาตรฐานสูงด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี จัดหลักสูตรเฉพาะทางที่เข้มข้น สนับสนุนให้นักเรียนคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ เพื่อสร้างเยาวชนที่มีศักยภาพสูงในด้าน STEM (Science,  Technology, Engineering, Mathematics) สร้างผลงานวิจัยได้รับรางวัลจากการแข่งขันทั้งระดับชาติและนานาชาติจำนวนมาก รวมถึงมีผลงานจดอนุสิทธิบัตร ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการชั้นนำ และได้รับเชิญให้นำเสนอผลงานในเวทีระดับนานาชาติ นอกจากนี้ นักเรียนยังเข้าร่วมกิจกรรมจิตอาสาและกิจกรรมพัฒนาตนเองอีกหลายด้าน ความสำเร็จนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่น ทุ่มเท ของกลุ่ม ปตท. และหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีส่วนร่วมสร้างอนาคตให้กับประเทศชาติ