น้ำเขื่อนลำตะคองเหลือน้อย หวั่นไม่พ้นหน้าแล้ง

วันที่ 11 พ.ย. 2567 เวลา 06:01 น.

เช้านี้ที่หมอชิต - ชาวบ้านเมืองโคราช เริ่มกังวลกับภัยแล้ง แม้หลายพื้นที่ยังมีฝนตก หลังพบว่าระดับน้ำในเขื่อนลำตะคอง เหลือใช้การได้เพียงร้อยละ 28 เกรงจะส่งผลกระทบกับน้ำดิบผลิตน้ำประปาช่วงหน้าแล้ง ในพื้นที่ 5 อำเภอ โดยปริมาณน้ำในเขื่อนลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา ขณะนี้พบว่ามีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำร้อยละ 33.96 และเหลือใช้การได้เพียงร้อยละ 22.82 ทำให้ขณะนี้ประชาชนในพื้นที่เมืองนครราชสีมา และพื้นรอบนอก 5 อำเภอ เริ่มหวั่นวิตกว่าจะขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง หลายครัวเรือนจึงเริ่มสำรองน้ำไว้ใช้ แม้ขณะนี้การประปาส่วนภูมิภาคยังผลิตน้ำได้ต่อเนื่อง แต่ประชาชนก็ยังกังวล ซึ่งชาวบ้าน บอกว่า มีความกังวลอย่างมากว่าจะไม่มีน้ำใช้ในช่วงฤดูแล้ง ตนและครอบครัวได้เตรียมถังน้ำเพื่อสำรองน้ำเอาไว้ใช้ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะใช้ได้กี่วัน หากน้ำประปาในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา หยุดไหลจริง ต้องซื้อน้ำใช้จากรถเร่ขายน้ำ คันละไม่ต่ำกว่า 500 บาท ส่วนที่จังหวัดพิษณุโลก ชาวบ้านที่นี่เจอปัญหาเรื่องฝุ่น PM2.5 ในระดับสีส้ม วานนี้ สภาพอากาศที่พิษณุโลก มีความผิดปกติ ท้องฟ้าถูกปกคลุมด้วยฝุ่นควันมลพิษจนสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพของกลุ่มเสี่ยง โดยพบว่าวัดค่าฝุ่น PM2.5 อยู่ประมาณ 47-48 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร กรมควบคุมมลพิษ มีการแจ้งเตือนพร้อมข้อควรปฏิบัติของประชาชน ควรต้องใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง เช่น หน้ากากป้องกัน PM2.5 ทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร กำจัดระยะเวลาในการทำกิจกรรมหรือการออกกำลังกายกลางแจ้งที่ใช้แรงมาก ขยับลงมาที่ภาคใต้ จังหวัดชุมพร ชาวบ้านที่นั่นต้องเตรียมรับมือน้ำท่วม หลังมีการประกาศแจ้งเตือนว่าในพื้นที่อำเภอเมืองชุมพร อำเภอหลังสวน และอำเภอสวี ระหว่างวันที่ 9-11 พฤศจิกายน 2567 จะมีฝนตกหนักถึงหนักมาก เมื่อวานนี้ทาง รองผู้ว่าฯ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ ที่อำเภอเมืองชุมพร ซึ่งมีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อช่วยเร่งระบายน้ำในกรณีที่ฝนตกหนัก เพราะบริเวณดังกล่าวเวลามีฝนตกหนัก มักจะเกิดน้ำท่วมประจำ เนื่องจากระบายน้ำไม่ทัน ประกาศศูนย์อุตุนิยมวิทยา ภาคใต้ฝั่งตะวันออก ประกาศฉบับที่ 5 (49/2567) เรื่อง ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออก ช่วงวันที่ 10-11 พฤศจิกายน โดยร่องมรสุมยังคงพาดผ่านภาคใต้ตอนล่าง ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังปานกลางพัดปกคลุมบริเวณทะเลอ่าวไทยตอนบน และภาคใต้ตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ และมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ชุมพร ยะลา และนราธิวาส