สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดหมู่บ้านเด็กเฉลิมพระเกียรติ มูลนิธิสงเคราะห์เด็กของสภากาชาดไทย จังหวัดนครปฐม

วันที่ 9 พ.ย. 2567 เวลา 20:01 น.

เวลา 15.36 น. วันนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย เสด็จพระราชดำเนินไปหมู่บ้านเด็กเฉลิมพระเกียรติ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ในการนี้ พระราชทานเข็มที่ระลึกแก่ผู้มีอุปการคุณ จำนวน 99 ราย จากนั้น ทรงเปิดแพรคลุมป้าย "หมู่บ้านเด็กเฉลิมพระเกียรติ" ประกอบด้วย 11 อาคาร อาทิ อาคารบริการ, อาคารสัมมนา, อาคารบ้านเด็ก 4 หลัง มีนายสิน พงษ์หาญยุทธ ศิลปินแห่งชาติ ออกแบบอาคาร และกองทัพเรือออกแบบสาธารณูปโภค ระบบไฟฟ้าและประปา โดยได้รับพระราชทานตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 ประดับที่อาคารและพระราชทานชื่อโครงการ "หมู่บ้านเด็กเฉลิมพระเกียรติ" จากนั้น ทรงพระดำเนินไปยังอาคารหอประชุม ทัศนีย์ ไผทฉันท์ ทอดพระเนตรนิทรรศการหมู่บ้านเด็กเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งนางทัศนีย์ (เทียนทอง) ไผทฉันท์ ได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายที่ดิน จำนวน 23 ไร่เศษ ให้กับมูลนิธิสงเคราะห์เด็กของสภากาชาดไทย คณะกรรมการมูลนิธิฯ มีมติให้จัดสร้างหมู่บ้านสำหรับเด็กชายในความอุปการะของมูลนิธิฯ ที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป และจัดทำศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง หมู่บ้านเด็กเฉลิมพระเกียรติฯ สร้างขึ้นเมื่อปี 2560 มูลนิธิฯ ได้เริ่มจัดทำศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง โดยได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน และส่วนราชการ ในจังหวัดนครปฐม สนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์ฯ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตร และเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำริ สำหรับเยาวชนและประชาชน ปัจจุบันมีเด็กชายในความอุปการะ 16 คน จากนั้น ประทับรถไฟฟ้าพระที่นั่ง ทอดพระเนตรบ้านพักเด็กและฐานการเรียนรู้ต่าง ๆ อาทิ ฐานเรียนรู้ด้านการเกษตร เช่น การปลูกบัวสาย, แปลงนาข้าวแบบนาโยน ช่วงแรกได้ผลผลิตไม่ดี เพราะมีนกจิกข้าว จึงปลูกใหม่แบบนาดำ ใช้ข้าวพันธุ์หอมชลสิทธิ์ ใช้เวลาประมาณ 40 วัน ข้าวจะออกดอก สามารถเริ่มเก็บเกี่ยวได้, แปลงไม้ผล มี 6 แปลง เช่น ฝรั่ง, ส้มโอ, ชมพู่, ขนุนมะพร้าวน้ำหอม และ กล้วยน้ำว้า มีการปลูกหญ้าแฝก เพื่อป้องกันหน้าดินพังทลายด้วย, ฐานเรียนรู้ด้านการเกษตร ประกอบด้วย การเลี้ยงปลาในกระชัง โดยสำนักงานประมง จังหวัดนครปฐม สนับสนุนพันธุ์ปลานิลดำ และ ปลานิลแดง อย่างละ 1,600 ตัว, การเลี้ยงไก่อารมณ์ดี มีไก่ไข่ 30 ตัว ออกไข่เฉลี่ยวันละ 20 ฟอง และ เป็ดอารมณ์ดี มีเป็ด 25 ตัว ออกไข่เฉลี่ยวันละ 27 ฟอง นำไข่ที่ได้มาแปรรูปเป็นไข่เค็ม, การผลิตน้ำหมักชีวภาพ และการผลิตปุ๋ยหมัก, การปลูกพืชผักสวนครัว เช่น พริก, ต้นหอม, ผักชี, ข้าวโพดฝักอ่อน, ปลูกมะนาว พันธุ์แป้นรำไพ ในวงปูนซีเมนต์, และการปลูกพืชสมุนไพร ที่สามารถรับประทานและแปรรูปเป็นลูกประคบได้, โรงเรือนเกษตรแม่นยำปลอดภัย ซึ่งสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 16 จังหวัดนครปฐม ให้การสนับสนุน เพื่อให้เป็นศูนย์เรียนรู้แก่ผู้สนใจประกอบการเกษตร โดยใช้ระบบควบคุมอัตโนมัติ มีการปลูกพืชไม่ใช้ดิน การจัดการน้ำสำหรับการเพาะปลูก ระบบกล้อง IP Camera ดูกล้องจากระยะไกล ขณะนี้ปลูกพืชแบบสองระบบ คือ การปลูกด้วยดินในกระบะปลูกผัก และการปลูกพืชในน้ำ ที่สามารถควบคุมด้วยโทรศัพท์ และตู้อบแห้ง พลังงานแสงอาทิตย์ (พาราโบล่า) ใช้สำหรับอบผลผลิตกล้วยและกลีบกุหลาบ สำหรับทำชากุหลาบ ต่อจากนั้น ทอดพระเนตรร้านกาแฟ ซึ่งเปิดขึ้นเพื่อฝึกให้เด็กทำขนม และเบเกอรี่ โดยนำผลผลิตที่ปลูกในหมู่บ้านฯ มาเป็นวัตถุดิบ เช่น เค้กกล้วยหอม และเค้กช็อกโกแลต เป็นการสร้างประสบการณ์ให้กับเด็ก เพื่อให้สามารถนำไปประกอบอาชีพได้ในอนาคต