“ภูมิธรรม” ลงพื้นที่เกาะกูด สร้างความมั่นใจ ทั้งเกาะเป็นของไทย ลั่นยังต้องใช้ MOU 44

วันที่ 9 พ.ย. 2567 เวลา 16:15 น.

MOU 44 ยังจำเป็น “ภูมิธรรม” ลั่นไม่ทบทวนยกเลิก ยอมรับ "กัมพูชา" เคยตั้ง “ทักษิณ” เป็นที่ปรึกษา แต่นานมากแล้ว ไม่เกี่ยวกับประเด็นพื้นที่ทับซ้อน วันนี้ (9พ.ย.67) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลงพื้นที่ชายแดนบริเวณ อ.เกาะกูด จ.ตราด เยี่ยมหน่วยปฏิบัติการเกาะกูด กองทัพเรือ เพื่อตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจ ดูแลทุกข์สุขกำลังพลหน่วยปฏิบัติการเกาะกูด ที่อยู่เฝ้าชายแดนไทย-กัมพูชา บริเวณเกาะกูด และเพื่อยืนยันให้ชัดเจนว่าไทยเป็นเจ้าของเกาะกูด และบนเกาะกูดเป็นเขตอธิปไตยของประเทศไทย ใครจะรุกล้ำไม่ได้ เพื่อให้ประชาชนมีความสบายใจและมั่นใจขึ้น ว่ารัฐบาลจะรักษาพื้นที่ไว้ ไม่ให้เสียพื้นที่แม้แต่ตารางนิ้วเดียว   นายภูมิธรรม กล่าวกับกำลังพลว่า พื้นที่เกาะกูดยังเป็น อธิปไตยของประเทศไทย มาตั้งแต่สมัยอดีตแต่ตอนนี้ มีหลายส่วนเข้าใจผิดและเกิดความกังวล ดังนั้นการเดินทางมาครั้งนี้ของตนเองก็เพื่อเป็นการยืนยันว่าเกาะกูดยังเป็นของประเทศไทย โดยมีหน่วยงานในพื้นที่และ กำลังพลของกองทัพ เรือคอยพิทักษ์รักษาพรมแดนนี้เอาไว้ ส่วนเอ็มโอยูสี่สี่เป็นเพียงแค่ประกาศอ้างไหล่ทวีปเพื่อขยายอาณาเขตของกัมพูชาเมื่อปี 2515 เท่านั้น แต่ในปี 2516 ไทยได้มีการประกาศขยายไหล่ทวีปออกไปแล้วเช่นกัน ตามกฎหมายสากล และต่อมาได้มีการแบ่ง อาณาเขตระหว่างสองประเทศไว้ชัดเจน โดยเว้นเกาะกูดเอาไว้ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จะต้องมีการเจรจาหารือกัน เพื่อให้เข้าใจตรงกันได้มากที่สุด อย่างไรก็ตามยืนยันว่า ตนเองจะดำเนินการอย่างเต็มที่ และขอให้กำลังพลทุกคนปฎิบัติหน้าที่อย่างสุดความสามารถด้วยเช่นกัน นายภูมิธรรม ย้ำว่า การเดินทางมาครั้งนี้ เพื่อเป็นการยืนยันว่า “เกาะกูด” เป็นอธิปไตยของไทย มีกองทัพเรือดูแลทั้งบนบกและในทะเล และเพื่อเป็นการยืนยันกับประชาชนที่ยังไม่เข้าใจ ว่าไทยจะเสียดินแดนบนเกาะกูด แต่เมื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รายงานแล้ว ก็ทำให้หลายฝ่ายมีความเข้าใจมากขึ้น รวมทั้งสถานการณ์การท่องเที่ยวบนเกาะเกาะกูดก็กลับมาดีขึ้น หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีความกังวลและอัตราการจองห้องพักหายไปถึง 30% ส่วนที่มีหลายคนเรียกร้องให้มีการทบทวน MOU 44 หลังใช้มากกว่า 20 ปีแล้วไม่สามารถ ตกลงกันได้ นายภูมิธรรม กล่าวว่า MOU 44 ไม่ได้พูดถึงผลประโยชน์อะไร เพียงแค่ระบุถึงพื้นที่ทับซ้อนในกฎหมายทะเลเท่านั้น เพื่อให้ตกลงพื้นที่ที่ตกลงกันไม่ได้โดยสันติมากกว่า หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เห็นตรงกันว่า กลไกนี้มีความสำคัญ ในสมัยรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มีการเสนอยกเลิก ก็เพราะไม่พอใจตัวบุคคล ไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวเอ็มโอยู แต่เมื่อรัฐบาลของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี เข้ามาบริหารประเทศ ก็นำMOU ฉบับนี้กลับมาใช้ใหม่ ทำให้เห็นว่า จะยกเลิกหรือไม่ก็ไม่มีผลทางกฎหมาย และไม่จำเป็นต้องเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ดังนั้น หากใช้วิจารณญาณดูให้ครบถ้วนก็จะเห็นว่า ไม่มีปัญหา แต่ยอมรับว่า มีความกังวลเพียงอย่างเดียวว่าอย่าเอาผลประโยชน์ของพรรคการเมืองที่ต่อสู้กัน จะไปกระทบความสัมพันธ์และผลประโยชน์ของประเทศ ส่วนกรณีที่มีฝ่ายการเมือง  ตั้งข้อสังเกตถึงกรณีที่กัมพูชาเคยตั้ง นายทักษิณ ชินวัตร เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ นายภูมิธรรม เชื่อว่าไม่มีปัญหา เพราะการแต่งตั้งไว้ตั้งเกือบ 20 ปีแล้ว  ไม่เกี่ยวอะไรกับพื้นที่ทับซ้อน ขออย่าให้นำไปเชื่อมโยงกัน