สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงบรรยายพิเศษพระราชทานแก่แพทย์ประจำบ้าน ชั้นปีที่ 1 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2567
วันที่ 7 พ.ย. 2567 เวลา 20:04 น.
เวลา 12.50 น. วันนี้ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จออก ณ ชั้น 10 อาคารศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยาจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ทรงบรรยายพิเศษ เรื่อง ภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง ต่อเนื่องจากเรื่อง การเกิดโรคมะเร็ง พระราชทาน แก่แพทย์ประจำบ้าน ชั้นปีที่ 1 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2567 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง เป็นทางเลือกและแนวทางการรักษารูปแบบใหม่เพิ่มเติมจากการรักษาแบบเคมี บำบัด หรือ การฉายรังสี โดยใช้ภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยต่อสู้กับเซลล์มะเร็ง แล้วกำจัดออกไปจากร่างกาย ซึ่งแนวทางการรักษานี้ มีผลข้างเคียงต่อผู้ป่วยน้อย ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ความรู้เรื่อง "ระบบภูมิคุ้มกันกับโรคมะเร็ง" จึงเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาความก้าวหน้าด้านการรักษามะเร็ง เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกัน มีการทำงานที่ซับซ้อน แบ่งได้ 2 แบบ คือ ภูมิคุ้มกันที่ได้มาแต่กำเนิด และภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นภายหลัง ซึ่งทำหน้าที่กำจัดเซลล์ที่ผิดปกติร่วมกัน แต่ไม่ทำลายซึ่งกันและกัน เนื่องจากมีความสามารถจดจำและแยกความแตกต่างเซลล์ของร่างกายได้ ภูมิคุ้มกันที่ได้แต่กำเนิด สามารถจำแนกคุณลักษณะในระดับโมเลกุลบนผิวเซลล์ของ "เซลล์แปลกปลอม" หรือ "เซลล์ผิดปกติ" โดยไม่จำเป็นต้องมีการสัมผัสสิ่งเหล่านั้นมาก่อน และจะส่งสัญญาณไปยังเซลล์อื่น ๆ ของระบบภูมิคุ้มกันให้กำจัดเซลล์แปลกปลอมออกไปอย่างรวดเร็ว หากภูมิคุ้มกันเกิดบกพร่อง ร่างกายจะใช้ระบบภูมิคุ้มกันที่มีความจำเพาะมากขึ้น ซึ่งพัฒนามาจากการจดจำการสัมผัสเซลล์แปลกปลอม แล้วทำให้เกิดการตอบสนองกับเซลล์ที่ผิดปกติ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ แอนติเจนของเซลล์มะเร็ง ที่กระตุ้นให้เกิดการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน ยังสามารถเป็นตัวบ่งชี้ ให้กับการวินิจฉัยถึงที่มาของการเกิดมะเร็งชนิดต่าง ๆ และสามารถทำการรักษาได้ตรงตามเป้าหมาย