สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ดังนี้
วันที่ 7 พ.ย. 2567 เวลา 20:03 น.
วานนี้ เวลา 18.55 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปหอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ทอดพระเนตรการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ประจำปี 2567 เรื่อง รามเกียรติ์ ตอน "พระจักราวตาร" ซึ่งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ และร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา 92 พรรษา วันที่ 12 สิงหาคม 2567 รามเกียรติ์ เป็นบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สำหรับตอน "พระจักราวตาร" เป็นตอนที่แสดงกฤษฎาภินิหารของพระจักรา หรือ พระนารายณ์ ที่อวตารลงมาเป็นพระราม โอรสของท้าวทศรถ กษัตริย์แห่งกรุงอโยธยาเพื่อปราบฝ่ายอธรรม เปรียบประดุจพระราชวงศ์จักรีที่ผดุงความสุขความสงบให้กับพสกนิกรชาวไทยตลอดมา มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จัดแสดงโขนเพื่อการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ให้ประชาชนชาวไทยได้ชื่นชมความงดงามของศิลปะดั้งเดิมของไทยหลากหลายแขนง ทั้งการแสดงที่วิจิตรงดงาม โดยนักแสดงเยาวชนรุ่นใหม่ ที่ผ่านการคัดเลือกและฝึกซ้อมจากครูผู้เชี่ยวชาญด้านนาฏศิลป์, การบรรเลงดนตรีและขับร้องเพลงไทย, ความวิจิตรของเครื่องแต่งกายอันประณีต และฉากการแสดงที่ยิ่งใหญ่ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงส่งเสริมและสนับสนุนการแสดงโขนทุกมิติ อันเป็นการธำรงนาฏศิลป์ที่ทรงคุณค่าของชาติให้สืบทอดคงอยู่ต่อไป ผู้ที่สนใจสามารถร่วมชมการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอน "พระจักราวตาร" ได้ระหว่างวันที่ 7 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 8 ธันวาคม 2567 เวลา 17.12 น. วันนี้ เสด็จออก ณ วังสระปทุม พระราชทานพระราชวโรกาสให้ นายเกษม วัฒนชัย องคมนตรี รองประธานกรรมการมูลนิธิเทพรัตนเวชชานุกูล นำคณะบุคคลต่าง ๆ เฝ้าทูลละอองพระบาท รับพระราชทานโล่มูลนิธิเทพรัตนเวชชานุกูล ประกอบด้วย หน่วยงาน องค์กร และบริษัทเอกชน ที่ร่วมบริจาคเงิน เพื่อช่วยเหลือกิจการด้านต่าง ๆ ของมูลนิธิฯ เช่น การจัดซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์, การออกหน่วยแพทย์, การซ่อมแซมอาคารของโรงพยาบาลในสังกัดมูลนิธิฯ ทั้ง 11 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จำนวน 10 แห่ง และโรงพยาบาลเทพรัตนเวชชานุกูล เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา จากนั้น พระราชทานพระราชวโรกาสให้ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลในสังกัดฯ เฝ้าทูลละอองพระบาท รับพระราชทานพระพุทธสิรินธรเทพรัตน์มงคลภูวดลสันติ ต่อจากนั้น ทรงเป็นประธานการประชุมมูลนิธิเทพรัตนเวชชานุกูล ประจำปี 2567 ซึ่งมีระเบียบวาระต่าง ๆ อาทิ การตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลชุมชนเฉลิมพระเกียรติที่มูลนิธิฯ ให้การสนับสนุน และการเข้ารับตำแหน่งใหม่ของผู้อำนวยการโรงพยาบาลฯ จำนวน 3 แห่ง, ผลการแก้ไขปัญหาดินทรุดตัวรอบอาคารพักของแพทย์โรงพยาบาลเทพรัตนเวชชานุกุล เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา, ผลกระทบสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ใกล้เคืยงในจังหวัดเชียงใหม่, ผลการดำเนินการใช้ระบบ Solar Cell โรงพยาบาล, ผลการดำเนินโครงการโรงพยาบาลสร้างสุขสู่ชุมชน, การออกหน่วยแพทย์อาสาของมูลนิธิเทพรัตนเวชชานุกูล ทั้งในส่วนกลางและจังหวัดเชียงใหม่, และแผนงานของมูลนิธิเทพรัตนเวชชานุกูล ในปี 2568 มูลนิธิเทพรัตนเวชชานุกูล จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามพระบรมราชกุมารี ในการสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ป่วยที่เดือดร้อนในโรงพยาบาลเทพรัตนเวชชานุกูเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา อำเภอแม่แจ่ม และโรงพยาบาลวัดจันทร์ เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา อำเภอกัลยานิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยทรงเห็นว่าการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยเป็นเรื่องสำคัญ และควรมีความสะดวกคล่องตัว รวมทั้งเพื่อจัดหาอุปกรณ์และครุภัณฑ์ทางการแพทย์ ตลอดจนศึกษาวิจัยและซ่อมแซมบำรุงอาคารพระราชทานและภูมิทัศน์ของโรงพยาบาลฯ