สภาทนายฯ แจง ทนายตั้ม โดนหมายจับ ไม่มีผลพิจารณาคดีมรรยาททนาย ต้องรอศาลตัดสินถึงที่สุดก่อน

วันที่ 7 พ.ย. 2567 เวลา 16:40 น.

รองโฆษกสภาทนายฯ แจง ทนายตั้ม โดนหมายจับ ไม่มีผลพิจารณาคดีมรรยาททนาย ต้องรอศาลตัดสินถึงที่สุดก่อน แนะลูกความไม่สบายใจ เจรจาเลิกจ้าง วันนี้ (7 พ.ย.67) จากกรณี เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลางจับกุม นายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือ ทนายตั้ม ซึ่งถูกศาลอาญาออกหมายจับในข้อหาฉ้อโกง, ฟอกเงิน, ร่วมกันฟอกเงินและสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงิน โดยจับได้ในพื้นที่ ต.แสนภูดาษ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ขณะเดินทางไปทำบุญ ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น ล่าสุด นายวีรศักดิ์ โชติวานิช อุปนายกฝ่ายเทคโนโลยีและสารสนเทศ และรองโฆษกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยถึงกรณีทนายตั้มถูกจับ อาจทำให้ลูกความที่ว่าจ้างกับทนายตั้มหรือสำนักงานของทนายษิทรานั้นมีความกังวลว่า ต้องอธิบายถึงกระบวนการว่า ถ้าหากพนักงานสอบสวนนำตัวส่งศาลเพื่อฝากขัง ต้องดูว่าศาลจะพิจารณาให้ประกันตัวหรือไม่ หากทนายตั้มได้ประกันตัวเขาก็สามารถออกมาดูแลลูกความได้ตามปกติ แต่ประเด็นสำคัญคือ ถ้าศาลไม่ให้ประกันตัว ทนายตั้มจะต้องถูกส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำ ดังนั้น ถ้าเกิดมีนัดกับศาลในคดีของลูกความ เรื่องนี้ทางเสมียนของทนายตั้มจะต้องส่งคำร้องต่อศาลขอเลื่อนนัดพิจารณาในคดีความนั้น ๆ แต่หากลูกความรู้สึกไม่สบายใจที่จะจ้างวานทนายคนดังกล่าวต่อ ก็ต้องลองคุยเจรจาขอเลิกจ้าง และตกลงกับทางสำนักงานฯ หรือเจ้าตัว เพื่อหาทนายใหม่ แต่ขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างตัวทนายและลูกความในการชำระค่าจ้างทนายความ ซึ่งตนเองหรือแม้แต่สภาทนายความฯ ก็ไม่อาจก้าวล่วงได้ ส่วนการพิจารณาคดีมรรยาททนายความนั้น ต้องแจ้งว่าทางสภาทนายฯ จะดูเป็นคดี ๆ ไป ถ้าทนายความผู้ใดโดนคดีหรือถูกออกหมายจับ แต่ถ้าข้อหาเป็นคนละส่วนกับที่ผู้เสียหายมาร้องเรียนต่อสภาทนายฯ เรื่องมรรยาททนายความนั้น ก็จะไม่ส่งผลอะไรต่อการพิจารณา “โดยทั่วไปแล้วในคดีที่ศาลออกหมายจับ และศาลยังไม่ได้พิจารณาว่าบุคคลนั้นกระทำผิด เพียงแต่ศาลเชื่อเหตุแห่งการออกหมายจับที่ตำรวจระบุมาเท่านั้น ดังนั้น ผู้ที่ถูกออกหมายจับยังไม่ใช่ผู้กระทำผิด เพราะศาลยังไม่ได้พิจารณาคดีจนถึงที่สุด อย่าลืมว่าคนที่ถูกออกหมายจับ เมื่อถึงชั้นพิจารณาตัดสินคดีแล้วก็มีการยกฟ้องได้” นายวีรศักดิ์ กล่าวและว่า การถูกออกหมายจับหรือมีคดี จึงไม่มีผลกับการพิจารณาเรื่องมรรยาททนายความ ซึ่งต่างจากทนายความที่ถูกศาลตัดสินจนคดีถึงที่สุดว่าทนายคนนั้นทำผิดจริง แล้วมีการลงโทษจำคุก ยกตัวอย่าง มีทนายความได้ละเมิดอำนาจ และศาลได้พิเคราะห์ พฤติกรรมพยานหลักฐานแล้วพิพากษาว่า กระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลจริงมีโทษจำคุก ซึ่งหากจำเลยมีอาชีพทนายความ ศาลจะส่งรายงานมาที่สภาทนายความฯ และขั้นตอนต่อไปทางสภาทนายความฯ จะแต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนขึ้นมาพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบว่าการกระทำของทนายความคนนั้น เข้าข่ายความผิดข้อบังคับมรรยาททนายความหรือไม่ ข้อใด และควรจะถูกลงโทษอย่างไร โดยการลงโทษเบาสุดคือการภาคทัณฑ์ ตักเตือน ต่อมาคือการพักใบอนุญาตไม่เกินสามปี และขั้นร้ายแรงที่สุด คือการลบชื่อออกจากทนายความ