รัฐบาลฟุ้ง 9 เดือนแรกปีนี้ ต่างชาติลงทุนในไทยกว่า 1.3 แสนล้าน ญี่ปุ่นครองแชมป์อันดับ 1
วันที่ 3 พ.ย. 2567 เวลา 14:29 น.
เนื้อหอม! รัฐบาลฟุ้ง 9 เดือนแรกปีนี้ ต่างชาติลงทุนในไทยกว่า 1.3 แสนล้าน ญี่ปุ่นครองแชมป์อันดับ 1 เฉพาะพื้นที่ EEC ลงทุนเกือบ 4 หมื่นล้าน สะท้อนต่างชาติเชื่อมั่นไทย วันนี้ (3 พ.ย.67) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยถึงตัวเลขนักลงทุนต่างชาติที่สนใจมาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น แสดงถึงศักยภาพของไทยที่ได้รับความเชื่อมั่นจากนักลงทุน โดยพบว่าตั้งแต่เดือน ม.ค. – ก.ย.67 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 จำนวน 636 ราย เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 143 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 493 ราย เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 134,805 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานคนไทยจากนักลงทุนที่ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 2,505 คน เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนในช่วงเวลาเดียวกัน พบว่า การอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ปี 2567 เพิ่มขึ้นจากปี 2566 จำนวน 143 ราย คิดเป็นร้อยละ 29 (เดือน ม.ค.-ก.ย.67 อนุญาต 636 ราย / เดือน ม.ค.-ก.ย.66 อนุญาต 493 ราย) และมีมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้น 50,792 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 60 (เดือน ม.ค.-ก.ย.67 ลงทุน 134,805 ล้านบาท / เดือน ม.ค.-ก.ย.66 ลงทุน 84,013 ล้านบาท) นายจิรายุ กล่าวเพิ่มว่า ชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ประกอบด้วย ญี่ปุ่น 157 ราย (25%) เงินลงทุน 74,091 ล้านบาท, สิงคโปร์ 96 ราย (15%) ลงทุน 12,222 ล้านบาท, จีน 89 ราย (14%) ลงทุน 11,981 ล้านบาท, สหรัฐอเมริกา 86 ราย (13%) ลงทุน 4,147 ล้านบาท และ ฮ่องกง 46 ราย (7%) ลงทุน 14,116 ล้านบาท โดยจำนวนนักลงทุนที่เข้ามาสูงสุดยังคงเป็นนักลงทุนญี่ปุ่นเช่นเดียวกับปีก่อน สำหรับการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติช่วง 9 เดือน ปี 2567 มีนักลงทุนต่างชาติลงทุน 207 ราย (33% ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติที่ได้รับอนุญาตในปีนี้) เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จำนวน 108 ราย (109%) มูลค่าการลงทุน 39,830 ล้านบาท (30% ของเงินลงทุนทั้งหมด) เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 23,690 ล้านบาท (147%) โดยเป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น 67 ราย เงินลงทุน 13,191 ล้านบาท, จีน 54 ราย ลงทุน 7,227 ล้านบาท, ฮ่องกง 18 ราย ลงทุน 5,219 ล้านบาท และประเทศอื่น ๆ 68 ราย ลงทุน 14,192 ล้านบาท ปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศคือ ธุรกิจแพลตฟอร์ม และ ซอฟต์แวร์ ที่ช่วยดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ และสนับสนุนเศรษฐกิจประเทศให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง ทั้งนี้ นักลงทุนชาวต่างชาติได้เข้ามาลงทุนในธุรกิจแพลตฟอร์มและซอฟต์แวร์ของประเทศไทยมีสัดส่วนการลงทุนมูลค่า 28,397.26 ล้านบาท คิดเป็น 7.27% (กลุ่มแพลตฟอร์ม 11,721.44 ล้านบาท กลุ่มซอฟต์แวร์ 16,675.82 ล้านบาท) โดยต่างชาติที่มาลงทุนมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ สิงคโปร์ ลงทุน 9,814.28 ล้านบาท ไต้หวัน 5,953.63 ล้านบาท และมาเลเซีย 2,237.63 ล้านบาท นายจิรายุ ย้ำตัวเลขการลงทุนดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนชาวต่างชาติให้ความเชื่อมั่นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ควรแก่การมาลงทุน เป้าหมายของรัฐบาล คือการหาตลาดการลงทุนใหม่ รักษาตลาดเก่า ขยายการลงทุนให้เป็นรูปธรรมเพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศไทยมีสิทธิประโยชน์ที่กระตุ้นให้เกิดการลงทุน โครงสร้างพื้นฐานที่ดี วัตถุดิบที่เพียงพอ และมีอุตสาหกรรมที่พร้อมสนับสนุนแผนการลงทุน ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนมั่นใจในศักยภาพของประเทศไทย