เด้ง-จับ ตำรวจ เซ่นคดีอุ้มรีดเงินชาวจีน 300 ล้าน
วันที่ 31 ต.ค. 2567 เวลา 21:25 น.
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมาทนายความผู้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหายชาวจีนได้มาพบพนักงานสอบสวนเพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับ ร.ต.อ.หัวหน้าชุดตรวจค้นกับพวกรวม 10 คน ในความผิดฐาน “เป็นเจ้าพนักงานร่วมกัน เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ , เป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ฯ” ซึ่งพนักงานสอบสวนได้รับคำร้องทุกข์ไว้ตามคดีอาญาที่ 2175 / 2567 ต่อมาเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2567 พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. ได้สั่งการให้ พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ และ พล.ต.ต.สมควร พึ่งทรัพย์ รอง ผบช.น. ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว และสั่งการให้ทาง บก.น.2 มีคำสั่งที่ 244 / 2567 ลงวันที่ 27 ตุลาคม 2567 แต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนเพื่อทำการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐาน จากการสืบสวนและสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานพบภาพจากกล้องวงจรปิดยืนยันว่าก่อนเกิดเหตุกลุ่มผู้ต้องหาได้นัดรวมตัวกันที่ร้านวัสดุแห่งหนึ่ง ใกล้ห้างสรรพสินค้าย่านบางนา จากนั้นได้พากันเดินทางไปยังบ้านบ้านพักผู้เสียหาย อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ โดยมีภาพจากกล้องวงจรปิดที่ติดตั้งอยู่ที่บริเวณทางเข้าหมู่บ้าน และที่ติดตั้งอยู่ที่สถานที่ทำงานของชุดตรวจค้น ยืนยันการเดินทางเข้าไปตรวจค้นที่บ้านและนำตัวผู้เสียหายและบุคคลภายในบ้านที่เกิดเหตุ มาที่สถานที่ทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อทำการข่มขู่เรียกให้ผู้เสียหายโอนเงิน และหลังจากที่ผู้เสียหาย โอนเงิน แล้วยังตรวจพบภาพจากกล้องวงจรปิดในเส้นทางที่เดินทางมาที่สถานที่ทำงานมได้บันทึกภาพเอาไว้มีบุคคลไม่ทราบชื่อนำเงินสดใส่ในถุงสีแดง มาส่งให้กับกลุ่มผู้ต้องหา อีกทั้งยังพบเส้นทางการเงินของผู้ต้องหาที่เชื่อมโยงว่าหลังจากผู้ต้องหาได้รับโอนเงินจากผู้เสียหายแล้วได้มีการโอนให้แก่ผู้ต้องหารายอื่นบางคนด้วย โดยผู้เสียหายได้มีการโอนเงินให้กลุ่มผู้ต้องหา 3 ครั้งเป็นเงินสกุลดิจิทัล USDT คิดเป็นเงินไทยรวมประมาณ 5,600,000 กว่าบาท แต่ปรากฏว่าในวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา ระหว่างการสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน ทางผู้ต้องหาซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขอเข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา จำนวน 3 ราย พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อหาให้ผู้ต้องหาทั้ง 3 คนทราบ โดยผู้ต้องหาทั้ง 3 ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ขอให้การภายหลังเป็นหนังสือเป็นเวลา 15 วัน ต่อมาเมื่อวันที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมา คณะพนักงานสืบสวนสอบสวน ได้ร่วมกันไปยื่นคำร้องขอหมายจับผู้ต้องหา จำนวน 9 คน ต่อศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง โดยเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ จำนวน 6 นาย และศาลได้อนุมัติให้ออกหมายจับผู้ต้องหา ในข้อหา “เป็นเจ้าพนักงานร่วมกัน เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่,เป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต,ร่วมกันกรรโชก” และประชาชน จำนวน 3 คน ในข้อหา“ร่วมกันสนับสนุนเจ้าพนักงาน เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใด ในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่,ร่วมกันสนับสนุนเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้น การปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต,ร่วมกันกรรโชก” ทั้งวันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ร่วมกันทำการจับกุมตัวผู้ต้องหาตามหมายจับของ ศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง จำนวน 7 ราย โดยเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวน 6 ราย และประชาชน 1 ราย นำส่งพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง ดำเนินคดีตามกฎหมาย พนักงานสอบสวนจึงได้ทำการแจ้งข้อกล่าวหาให้ทราบ ในชั้นสอบสวนผู้ต้องหาทั้ง 7 คน ดังกล่าว ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ขอให้การภายหลังเป็นหนังสือเป็นเวลา 15 วัน โดยผู้ต้องหาได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยมีเงินสดและที่ดินเป็นหลักประกัน และคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาทั้ง 7 คน ในชั้นสอบสวน ซึ่งคดีดังกล่าวนี้ อยู่ในอำนาจของ ป.ป.ช. ซึ่งคณะพนักงานสอบสวนจะรวบรวมพยานหลักฐานส่งสำนวนการสอบสวน ให้ ป.ป.ช.ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่รับคำร้องทุกข์ สำหรับ ผู้ต้องหาอีก 2 ราย ได้ให้ฝ่ายสืบสวน บก.น.2 และ บก.สส.บช.น. ติดตามตัวจับกุมตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมายโดยเร็วต่อไป ล่าสุดมีรายงานว่า กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทาง เทคโนโลยี 1 ได้มีคำสั่งเรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง นั้นฉะนั้น เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการตรวจสอบข้อเท็จจริงและมิให้เข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน จึงให้ ร.ต.อ.ธนกฤต กาญจนมาศ รองสว.กก.1บก.สอท.1 ,ด.ต.สุพรรณ ของใส ,จ.ส.ต.กิตติภูมิ จีนแปลงชาติ ผบ.หมู่กก.1บก.สอท.1 ไปช่วยราชการที่ศปก.บก.สอท1. มาช่วยราชการที่ศปก.บช.สอท. โดยให้ขาดจากตำแหน่ง มีคำสั่งตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมอบให้พ.ต.อ.ทำนุรัฐ คงมั่น รองผบก.สอท.1 เป็นประธานกรรมการ โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จใน 30 วัน