โซเชียลฯ คาใจปม เภสัชกร เสียชีวิต

วันที่ 31 ต.ค. 2567 เวลา 11:07 น.

ห้องข่าวภาคเที่ยง - กลายเป็นกระแสโซเชียลฯ ที่หลายเพจฯ ดัง โพสต์เนื้อหาคนทำงาน เจอ Toxic นำไปสู่การจบชีวิตอย่างเศร้าสลด เรื่องนี้จะใช่สาเหตุจากอาการป่วยซึมเศร้า หรือปัญหาจากที่ทำงานกันแน่ โซเชียลฯ คาใจปม เภสัชกร เสียชีวิต คุณอภิเอก บัลลังก์โพธิ์ ผู้สื่อข่าวติดตามสอบถามกับ "พี่สาว" ของผู้เสียชีวิต ที่เป็นเภสัชกรโรงพยาบาลชื่อดังแห่งหนึ่ง บอกไม่สะดวกจะให้ข้อมูลอะไรมาก เพราะยุ่งอยู่กับการจัดงานศพ เท่าที่พอบอกได้ คือ ครอบครัวไม่ติดใจสาเหตุการเสียชีวิต และอยากให้เรื่องนี้จบลงด้วยดี ย้อนกลับไปดูข้อความสุดท้ายที่ผู้เสียชีวิต ทิ้งไว้ถึงคนรอบตัว ได้ฝากขอโทษทุกคนรอบตัว ขอโทษใครที่ยังติดค้างกันอยู่ บอกว่าตัวเองเป็นคนเห็นแก่ตัว ที่อยากไปแบบมีความสุข ไม่อยากตื่นมาทำงาน เจอคนที่ไม่เคยเห็นคุณค่า ไลน์ที่ทำงานก็มีแต่ Toxic จะไปต่อก็มีปัญหาหลายอย่าง ก่อนจะทิ้งท้ายด้วยคำขอโทษคนในครอบครัวอีกครั้ง ส่วนความเห็นคนในโซเชียลฯ มีทั้งคนที่เห็นใจ และการตั้งข้อสังเกต จากเรื่องการกดดันให้ลูกน้องย้ายสายงาน หรือลาออกจากงาน การให้เกียรติกันในที่ทำงาน มีคนที่เห็นว่าเท่าที่อ่านจากแช็ต ยังไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่า "หัวหน้า" ถูกหรือผิด อยากให้ดูบริบทของการทำงานของผู้เสียชีวิตด้วย ขณะที่มีเพื่อนของผู้เสียชีวิต ออกมาเถียงแทนคนที่เข้าข้างหัวหน้า ว่าเรื่องที่เกิดขึ้น ผู้เสียชีวิตพูดไม่ดีอย่างไร และต้องไม่ลืมว่า ภูมิต้านทานแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน ผู้สื่อข่าว ยังได้คุยกับ เพื่อนสนิทของผู้เสียชีวิต เล่าว่า ผู้เสียชีวิตป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามาหลายปี มักเล่าเรื่องราวความทุกข์ใจที่เกิดขึ้นในที่ทำงานอยู่บ่อยครั้ง ผู้เสียชีวิตเป็นคนอัธยาศัยดี เป็นที่รักของเพื่อนร่วมงาน แต่ก็ยอมรับว่ามีปัญหากับ "หัวหน้างาน" อยู่จริง เบื้องต้น จะมีพิธีสวดอภิธรรม ไปจนถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน และมีพิธีฌาปนกิจในวันที่ 2 พฤศจิกายน รพ.แจงข้อเท็จจริง หัวหน้างานกดดัน โรงพยาบาลพระราม 9 ออกแถลงการณ์ ขอแสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิตของบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาล ซึ่งเป็นเภสัชกรห้องจ่ายยา ทันทีที่ทราบเหตุการณ์คณะผู้บริหารและบุคลากร ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างใกล้ชิด และได้ติดต่อไปยังครอบครัวผู้เสียชีวิตเพื่อแสดงความเสียใจ โดยยืนยันถึงความรับผิดชอบ ซึ่งจะดำเนินการอย่างเป็นธรรมทุกขั้นตอน ส่วนที่ออกแถลงการณ์ล่าช้า เนื่องจากจำเป็นต้องรวบรวมข้อมูลที่มีความละเอียดอ่อนอย่างรอบคอบ อีกทั้งยังต้องคำนึงถึงจิตใจของครอบครัวและญาติผู้เสียชีวิต จากกรณีที่เกิดขึ้น ทางโรงพยาบาลได้เน้นย้ำให้ทุกฝ่ายปฏิบัติงานด้วยความเข้าอกเข้าใจกัน เพื่อให้การดูแลซึ่งกันและกัน เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กรอย่างแท้จริง ส่วนความกดดันในที่ทำงาน เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ มีคำแนะนำจาก นายแพทย์ อภิชาติ จริยาวิลาศ โฆษกกรมสุขภาพจิต แนะนำว่า การพูดคุย เคลียร์ปัญหาซึ่งกันและกัน เป็นทางออกที่ดีที่สุด ย้ำว่า พยายามอย่าเลี่ยงปัญหา เมินเฉย ปล่อยทิ้งไว้ในใจ เพราะไม่เช่นนั้นความเครียดจากความกดดันจะสะสม รอวันปะทุออกมา แล้วจะหนักกกว่าเดิม แต่หากจัดการปัญหากวนใจไม่ได้ แนะนำให้พบจิตแพทย์จะช่วยให้ดีขึ้น