สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงบรรยาย เรื่อง การเกิดโรคมะเร็ง พระราชทานแก่นักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 3 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2567
วันที่ 30 ต.ค. 2567 เวลา 20:05 น.
สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงบรรยาย เรื่อง การเกิดโรคมะเร็ง พระราชทานแก่นักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 3 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2567 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เวลา 12.54 น. วันนี้ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จออก ณ ชั้น 10 อาคารศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยาจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ทรงบรรยาย เรื่อง "การเกิดโรคมะเร็ง" หรือ Oncogenesis พระราชทานแก่นักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 3 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2567 จำนวน 320 คน ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 ในหัวข้อ "การควบคุมการเพิ่มจำนวนเซลล์และการเกิดเซลล์ตาย และเมแทบอลิซึมของเซลล์มะเร็ง" ซึ่งมีวัฏจักรหรือวงจรการแบ่งตัวของเซลล์ออกเป็น 4 ระยะ แต่ละระยะจะมีจุดตรวจสอบและควบคุมความถูกต้องในคุณภาพการทำงานของเซลล์ โดยปกติแล้ว ร่างกายจะเป็นตัวควบคุมความสมดุลและความเหมาะสม หากเกิดความผิดปกติก็จะสามารถกลายเป็นมะเร็งได้ จึงจำเป็นต้องมีกระบวนการปรับเมแทบอลิซึมด้วยปฏิกิริยาต่าง ๆ เพื่อช่วยรักษาสมดุลในร่างกาย ส่วน "กลไกการเกิดพยาธิสภาพของมะเร็งในระดับโมเลกุลและระดับเซลล์ เป็นกุญแจไปสู่การรักษาในอนาคต" ปัจจุบัน มีการใช้เทคนิคการตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงและแสดงออกของยีนต่าง ๆ โดยสามารถแยกความแตกต่างของมะเร็งแต่ละชนิดในระดับยีนได้ ทำให้วงการแพทย์มีการพยากรณ์โรคได้แม่นยำ สามารถเลือกแผนการรักษาและยาได้ตรงกับโรค หนึ่งในนั้น คือ การพัฒนา "ยากลีเวค" หรือ "ยาอิมาทิหนิบ" ที่รักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดชนิดเรื้อรัง เป็นยาตัวแรกที่พิสูจน์ให้เห็นความสำเร็จของหลักการในการรักษามะเร็งแบบมุ่งเป้า ด้วยการใช้ข้อมูลพันธุกรรมที่จำเพาะ (มาก) ของมะเร็ง มาพัฒนาหาแนวทางการรักษา นำไปสู่ความก้าวหน้าทางการแพทย์ด้านโรคมะเร็ง และในขณะนี้ มีการค้นพบการรักษาแนวใหม่ในผู้ป่วยมะเร็งทางระบบเลือด ด้วยเซลล์บำบัด ซึ่งอาศัยหลักการทางภูมิคุ้มกัน โดยการนำเม็ดเลือดขาวชนิด "ที-เซลล์" ของผู้ป่วยมาดัดแปลงพันธุกรรม จนได้นวัตกรรมที่เรียกว่า "คาร์-ที เซลล์" ซึ่งเป็นความก้าวหน้าล่าสุดในการพัฒนาการรักษาแนวใหม่ พบว่าได้ผลดีในผู้ป่วยมะเร็งทางระบบเลือดที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาใด ๆ สูงถึงร้อยละ 50-80 นอกจากนี้ ได้รับการยอมรับจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา ให้ใช้ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลือง และมะเร็งเม็ดเลือดขาวบางชนิดทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ หากแต่ยังเกิดผลข้างเคียงในกลุ่มผู้ป่วยดังกล่าวอยู่ และในปัจจุบันมีการค้นคว้าหาแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา และกระบวนการยับยั้งการเกิดผลข้างเคียง เพื่อให้ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในอนาคตมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น