สปสช. สั่งตั้งคณะทำงานถกด่วนหาทางออก รพ.มงกุฎวัฒนะ
วันที่ 28 ต.ค. 2567 เวลา 17:18 น.
สปสช. สั่งตั้งคณะทำงานถกด่วนหาทางออก รพ.มงกุฎวัฒนะ พร้อมหารือข้อเสนอหมอเหรียญทอง ขอขยายโควตาประชากรดูแลเป็น 2.5 แสนคน ขอรับงบเหมาจ่ายรายหัว ดึงคลินิกร่วมเป็นเครือข่ายบริการ ความคืบหน้ากรณี พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการ รพ.มงกุฏวัฒนะ ประกาศงดรับผู้ป่วยบัตรทองส่งต่อจากคลินิก เนื่องจาก สปสช.เบี้ยวหนี้ 20 ล้านบาท วันนี้ (28 ต.ค.67) นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมผู้บริหารสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีวาระการหารือกรณีของ รพ.มงกุฎวัฒนะ ซึ่งเป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท โดย นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผอ.รพ.มงกุฎวัฒนะได้ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงเลขาธิการ สปสช. ลงวันที่ 26 ต.ค.67 เรื่อง รพ.มงกุฎวัฒนะขาดสภาพคล่องไม่สามารถรับส่งต่อจากหน่วยบริการปฐมภูมิตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.67 โดยขอให้ สปสช. แก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดกับ รพ.มงกุฎวัฒนะภายหลังการปรับแนวทางการบริหารจัดการระบบบัตรทองในพื้นที่ กทม. เบื้องต้นเท่าที่ดูข้อมูลตามที่ รพ.มงกุฎวัฒนะได้หารือมานี้ มองว่าเป็นปัญหาที่สามารถพูดคุยและบริหารจัดการได้ ทั้งในส่วนของค่าบริการผู้ป่วยนอกรับส่งต่อ (OP Refer) และบริการปฐมภูมิไปที่ไหนก็ได้ (OP Anywhere) รวมถึงการจ่ายค่าบริการตามรายการบริการ (Fee schedule :FS) ซึ่ง สปสช. มีขั้นตอนในการดำเนินการ โดยเฉพาะการตรวจสอบข้อมูลการเบิกจ่าย ที่อาจทำให้ในบางส่วนเกิดความล่าช้าต่อหน่วยบริการได้ รวมถึงประกาศหลักเกณฑ์และข้อบังคับต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดผลกระทบในภายหลังขี้น อย่างไรก็ดี เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหานี้โดยเร็ว และไม่ให้ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองได้รับผลกระทบ ในวันนี้ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อหารือร่วมกับ รพ.มงกุฎวัฒนะ ในการหาข้อยุติของปัญหาต่าง ๆ ร่วมกันแล้ว ทั้งในส่วนของเบิกจ่ายชดเชย การขึ้นทะเบียนหน่วยบริการ เป็นต้น นพ.จเด็จ กล่าวว่า ส่วนข้อเสนอที่ รพ.มงกุฎวัฒนะ ขอขยายเพดานโควตาที่รับดูแลประชากรเครือข่ายมงกุฎวัฒนะ จากเดิมจำนวน 48,767 คน เป็น 250,000 คนนั้น ประเด็นนี้ในการดำเนินการ สปสช. จะต้องทำการแก้ไขข้อบังคับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การขอลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการประจำและการขอเปลี่ยนแปลงหน่วยบริการประจำ พ.ศ. 2564 โดยเป็นการพิจารณาของบอร์ด สปสช. และแก้ไขประกาศสำนักงานฯ เรื่องเกณฑ์การตรวจประเมินเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการ รวมถึงการให้โรงพยาบาลเอกชนใน กทม. สามารถให้บริการลักษณะหน่วยบริการประจำได้ นอกจากนี้ยังมีในเรื่องของการพิจารณาศักยภาพโรงพยาบาลในการรองรับการดูแลประชากรที่เพิ่มขึ้น และการประเมินผลกระทบที่มีต่อระบบในภาพรวมทั้งหมด รวมถึงการจัดระบบบริการในพื้นที่ด้วย เลขาธิการ สปสช. กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนข้อเสนอที่ให้ รพ.มงกุฎวัฒนะเลือกคลินิกเป็นเครือข่าย โดย รพ.มงกุฎวัฒนะจะรับค่าบริการเหมาจ่ายรายหัวแทนคลินิก และเมื่อประชาชนไปรับบริการทาง รพ.จะจ่ายตามรายการบริการนั้น รูปแบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเป็นลักษณะเดียวกับโมเดลที่ 1 ซึ่ง สปสช. เขต 13 กทม. หากมีการปรับแก้ไขในส่วนนี้ คงใช้เป็นแนวทางของ รพ.เอกชนใน กทม. ทั้งหมดไม่แต่เฉพาะ รพ.มงกุฎวัฒนะ “ในการประชุมบอร์ด สปสช. วันที่ 4 พ.ย.นี้ สำนักงานฯ จะนำเรื่องนี้เสนอต่อที่ประชุม เพื่อแจ้งปัญหากรณี รพ.มงกุฎวัฒนะ เพื่อให้บอร์ดฯ รับทราบ รวมถึงหารือแนวทางการแก้ไขปัญหา” เลขาธิการ สปสช. กล่าว