พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ไปในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

วันที่ 27 ต.ค. 2567 เวลา 20:01 น.

เวลา 15.15 น. วันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร ไปยังท่าวาสุกรี เพื่อประทับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ไปในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร โอกาสนี้ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และนางชนากานต์ ธีรเวชพลกุล ประธานศาลฎีกา เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ จากนั้น ทรงพระดำเนินไปยังสะพานฉนวนประจำท่าเทียบเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ องคมนตรี และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พลเรือเอก จิรพล ว่องวิทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะผู้บัญชาการขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบบังคมทูลพระกรุณารายงานจำนวนเรือและกำลังพล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปประทับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ กองทหารเกียรติยศถวายความเคารพ ดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี โอกาสนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร เสด็จไปประทับเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ นายเรือตีกรับ ฝีพายถวายบังคม  พลเรือโท สมบัติ จูถนอม ผู้ควบคุมเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ กราบบังคมทูลพระกรุณารายงานจำนวนฝีพายประจำเรือพระที่นั่ง ว่าที่นาวาเอก คมสันต์ ศรีหลง นายเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ กราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเคลื่อนขบวนพยุหยาตราทางชลมารค พลอากาศเอก สถิตย์พงษ์ สุขวิมล เลขาธิการพระราชวัง รับพระบรมราชโองการ แจ้งนายเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ให้ยาตราขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เมื่อเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์เคลื่อนออกจากท่าวาสุกรีเพื่อเข้าริ้วขบวน กองทหารเกียรติยศถวายความเคารพ ดุริยางค์บรรเลงเพลงมาร์ชธงชัยเฉลิมพล ชาวพนักงานประโคมกระทั่งมโหระทึก สังข์ แตรงอน แตรฝรั่ง ปี่และกองชนะประจำเรือพระราชพิธีประโคมขึ้นพร้อมกัน จากนั้น ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคเคลื่อนจากท่าวาสุกรี ตามชลวิถีท้องน้ำเจ้าพระยา ไปยังท่าวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี มีพระราชศรัทธาและทรงเลื่อมใสในพุทธศาสนา ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในโอกาสวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอย่างเนืองนิจ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ จัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ซึ่งนับเป็นโอกาสอันดียิ่งที่พสกนิกร จะได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ เพื่อแสดงความจงรักภักดีและถวายพระพรชัยมงคล ทั้งยังได้ร่วมชื่นชมความงดงามของขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ตามโบราณราชประเพณีอันกอปรด้วยศาสตร์และศิลป์ อันเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาประชาชนชาวไทยและชาวต่างชาติ ถึงความงดงามตระการตาของขบวนเรือในพระราชพิธีที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน และจัดขึ้นอย่างสง่างามสมพระเกียรติ ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ประกอบด้วยเรือพระราชพิธี จำนวน 52 ลำ แบ่งการจัดขบวน เป็น 5 ริ้ว 3 สาย ความยาว 1,280 เมตร ความกว้าง 90 เมตร ใช้กำลังพลประจำเรือในขบวนเรือพระราชพิธี รวม 2,412 นาย โดยริ้วสายนอก ประกอบด้วย เรือดั้ง 22 ลำ และเรือแซง 6 ลำ  ริ้วสายในขนาบข้างสายเรือพระที่นั่ง ประกอบด้วย เรือทองขวานฟ้าและเรือทองบ้าบิ่นเป็นเรือประตูหน้า เรือเสือทยานชลและเรือเสือคำรณสินธุ์เป็นเรือพิฆาต เรือรูปสัตว์ 8 ลำ ได้แก่ เรืออสุรวายุภักษ์และเรืออสุรปักษี เรือกระบี่ปราบเมืองมารและเรือกระบี่ราญรอนราพณ์ เรือพาลีรั้งทวีปและเรือสุครีพครองเมือง เรือครุฑเหินเห็จ และเรือครุฑเตร็จไตรจักร และปิดท้ายริ้วสายในด้วย เรือเอกไชยเหินหาวและเรือเอกไชยหลาวทอง ซึ่งเป็นเรือคู่ชัก รวมทั้งสิ้น 14 ลำ ส่วนริ้วสายกลาง ซึ่งเป็นเรือสายสำคัญ ประกอบด้วย เรือพระที่นั่ง 4 ลำ ได้แก่ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เป็นเรืออัญเชิญผ้าพระกฐิน เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เป็นเรือพระที่นั่งประทับ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ เป็นเรือที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร และเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เป็นเรือพระที่นั่งสำรอง มีเรืออีเหลืองเป็นเรือกลองนอก ซึ่งเป็นเรือของรองผู้บัญชาการขบวนเรือ เรือแตงโมเป็นเรือกลองใน ซึ่งเป็นเรือของผู้บัญชาการขบวนเรือ พร้อมด้วยเรือตำรวจ และเรือแซง รวมทั้งหมด 10 ลำ โดยขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค จะมีกาพย์เห่เรือเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งประพันธ์โดย พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย ประกอบด้วยบทเห่เรือ คือ บทสรรเสริญพระบารมี บทชมเรือกระบวน บทบุญกฐิน และบทชมเมือง การจัดรูปขบวนเรือพระราชพิธีมีลักษณะดุจดาวล้อมเดือน คือ เรือพระที่นั่งเป็นเดือน เรืออื่นในขบวนหน้า ขบวนแซง และขบวนหลัง เป็นดาวล้อมอยู่ทุกด้าน เพื่อให้เรือพระที่นั่งมีความสง่างามสมพระเกียรติ สำหรับเส้นทางเสด็จพระราชดําเนิน เป็นเส้นทางเดียวกับที่เคยใช้มาตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร คือ เริ่มต้นจากท่าวาสุกรี โดยมีการจอดเรือตั้งแต่หน้าสะพานกรุงธน ไปถึงหลังสะพานพระราม 8 เรือจะออกจากสะพานพระราม 8 ผ่านป้อมพระสุเมรุ สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า โรงพยาบาลศิริราช กรมอู่ทหารเรือ ราชนาวิกสภา พระบรมมหาราชวัง หอประชุมกองทัพเรือ และถึงวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ในรัชกาลปัจจุบัน ได้มีการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค มาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 จากท่าวาสุกรี ไปยังท่าราชวรดิฐ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2562 ส่วนครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 และเป็นขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน ครั้งแรกในรัชกาล ทั้งนี้ การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เป็นกระบวนเสด็จพระราชดำเนินทางน้ำที่เป็นราชประเพณีไทยมาแต่โบราณ โดยมีหลักฐานชัดเจนตั้งแต่สมัยอยุธยา และในสมัยรัตนโกสินทร์ มีการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค มาแล้วหลายครั้ง โดยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค รวม 17 ครั้ง เวลา 16.13 น. เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์เทียบท่าฉนวนน้ำ หน้าพระอุโบสถ วัดอรุณราชวราราม นายเรือตีกรับ ฝีพายถวายบังคม แตรเดี่ยว (เรือแตงโม) เป่าเพลงคำนับพร้อมกัน จากนั้น เสด็จขึ้นท่าฉนวนน้ำ หน้าพระอุโบสถ วัดอรุณราชวราราม กองทหารเกียรติยศถวายความเคารพ ดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ผู้บัญชาการขบวนพยุหยาตราทางชลมารค กราบบังคมทูลพระกรุณารายงาน พลเอก สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์เทียบเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร เสด็จขึ้นสะพานฉนวนน้ำ หน้าพระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินเข้าพระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงวางผ้าไตรเหนือพานแว่นฟ้าที่หน้าอาสน์สงฆ์ใกล้เจ้าอาวาส ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธธรรมิศราชโลกธาตุดิลก พระประธานพระอุโบสถ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงกราบ ทรงหยิบผ้าห่มสำหรับพระประธาน พระราชทานเจ้าพนักงานภูษามาลา เจ้าหน้าที่กรมการศาสนากราบบังคมทูลรายงานจำนวนพระสงฆ์ จบแล้ว ทรงหยิบผ้าไตรที่พานแว่นฟ้าพาดระหว่างพระกรทรงว่า "นะโม ตัสสะฯ " จบ 3 หน ทรงกล่าวคำถวายผ้าพระกฐิน ทรงวางผ้าไตรไว้บนพานแว่นฟ้า แล้วทรงประเคนผ้าไตรและเทียนปาฏิโมกข์แด่พระสงฆ์รูปที่ 2 พระสงฆ์ทำพิธีกฐินกรรม เมื่อพระสงฆ์ผู้ครองผ้าพระกฐินออกไปครองผ้าพระกฐินเสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร ถวายเครื่องบริวารพระกฐินแด่พระสงฆ์ผู้ครองผ้าพระกฐิน ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก  จากนั้น พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายเกียรติวิสุทธิ์ เพ็ชรหมื่นไวย ผู้อำนวยการเขตบางกอกใหญ่ กราบบังคมทูลเบิกผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงินบำรุงวัด เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานของที่ระลึก แล้วทรงกราบที่หน้าเครื่องนมัสการ ทรงลาพระสงฆ์ ในโอกาสนี้ เจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม ถวายพระพุทธนฤมิตร (จำลอง) ขนาดหน้าตัก 9 นิ้ว เนื้อทองคำ และเนื้อเงิน แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถวายพระพุทธนฤมิตร (จำลอง) ขนาดหน้าตัก 7 นิ้ว เนื้อทองคำ และเนื้อเงิน แด่สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี และถวายพระพุทธนฤมิตร (จำลอง) ขนาดหน้าตัก 3.5 นิ้ว เนื้อทองคำ และเนื้อเงิน แด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร แล้วเสด็จออกชานหน้าพระอุโบสถ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยบูชาพระพุทธนฤมิตร พระพุทธรูปฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางพุ่มดอกไม้ และทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย วัดอรุณราชวราราม หรือ วัดแจ้ง เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร และเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 2 สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา เดิมชื่อ วัดบางมะกอก หรือ วัดมะกอก ต่อมาสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระราชทานนามวัดอรุณ หรือ วัดแจ้ง หลังจากเสด็จยกทัพกลับจากกอบกู้กรุงศรีอยุธยามาเป็นเวลาเช้ารุ่งอรุณที่หน้าวัดแห่งนี้  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า "วัดอรุณราชธาราม" และในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามงกุฎวิทยมหาราช อัญเชิญพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมาบรรจุไว้ที่พระพุทธอาสน์ของพระประธานในพระอุโบสถ และพระราชทานนามวัดว่า "วัดอรุณราชวราราม"