กรมป่าไม้แจงชัด ไร่เชิญตะวัน 3 แปลง ไม่มีบุกรุกเพิ่ม

วันที่ 25 ต.ค. 2567 เวลา 11:40 น.

กรมป่าไม้แจงชัด ผลตรวจพิกัดพื้นที่ไร่เชิญตะวัน 3 แปลง ท่าน ว.วชิเมธี ไม่มีการบุกรุกเพิ่มจากที่ขออนุญาต เชื่อการนำพระพุทธศาสนาเข้ามาช่วยอนุรักษ์พื้นที่ป่าได้ประโยชน์มากกว่าปล่อยทิ้งไว้ หลังท่าน ว.วชิรเมธี หรือพระเมธีวชิโรดม ตกเป็นกระแสดรามากับกลุ่มบอสดิไอคอนกรุ๊ป บานปลายไปถึงการเรียกร้องให้ตรวจสอบ การขออนุญาตใช้พื้นที่ศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน ซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยปุย ต.ห้วยสัก อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย ว่ามีการใช้พื้นที่เกินกว่าที่ขออนุญาตหรือไม่ ล่าสุด วันนี้ (25 ต.ค.67) นายบรรณรักษ์ เสริมทอง รองอธิการบดีกรมป่าไม้ ในฐานะโฆษกกรมป่าไม้ เปิดเผยผลการตรวจสอบพิกัดทที่ดิน ว่าไร่เชิญตะวัน ได้ขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าสงวนตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 16 ซึ่งอนุญาตให้บุคคลเข้าทำประโยชน์ หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติได้เป็นการชั่วคราว ภายในระยะเวลาตามเงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งเมื่อมีข้อครหาเรื่องการใช้พื้นที่ของไร่เชิญตะวันขึ้นมา ก็ได้มีการสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบพื้นที่ตามขอบเขตแปลงโดยใช้เครื่องตรวจวัดหาค่าพิกัดจากดาวเทียม (GPS) ผลการตรวจสอบพบการใช้งานในขอบเขตที่ขออนุญาต แบ่งเป็น 3 แปลง แปลงแรก ขออนุญาตโดยมูลนิธิวิมุตตยาลัย ตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2566 จนถึงวันที่ 12 มีนาคม 2596 ใช้เป็นสถานที่ตั้งมหาวิทยาลัยพุทธเศรษฐศาสตร์ ธรรมสมโภช 750 ปี  รัตนบุรีเชียงราย โรงเรียนชาวนาพุทธเศรษฐศาสตร์ และสถานวิปัสสนากรรมฐาน เนื้อที่ 113 ไร่ 1 งาน 72 ตารางวา มีการใช้งานอยู่ที่ 113 ไร่ 1 งาน 70 ตารางวา แปลงที่ 2 ขออนุญาตโดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 ไปจนถึง 22 พฤศจิกายน 2596 ใช้เป็นสถานที่ตั้งวัดไร่เชิญตะวัน เนื้อที่ 14 ไร่ 3 งาน 97 ตารางวา มีการใช้งานอยู่ที่ 14 ไร่ 3 งาน 90 ตารางวา แปลงสุดท้าย ขออนุญาตโดยสำนักงานพระพุทธศาสนา ตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 ไปจนถึง 22 พฤศจิกายน 2596 ใช้เป็นศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน เนื้อที่ 11 ไร่ 3 งาน 01 ตารางวา มีการใช้งานจริงอยู่ที่ 11 ไร่ 2 งาน 55 ตารางวา จึงได้ข้อสรุปว่าพื้นที่ไร่เชิงตะวันใช้ประโยชน์ ในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติอยู่ในขอบเขตหนังสือตามที่ได้รับอนุญาตไว้ รวมถึงมีการตรวจสอบว่ามีป้ายประกาศจากกรมป่าไม้ รวมไปถึงการฝังหลักเขตบริเวณรอบแปลงแสดงแนวเขตพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตอย่างชัดเจน นอกจากนี้ การขออนุญาตใช้พื้นที่ของกรมป่าไม้ ยังมีข้อบังคับจำนวน 29 ข้อ ใจความสำคัญคือ การขอใช้อนุญาตพื้นที่เขตป่านสงวนต้องบำรุงและไม่ทำลายธรรมชาติ ผู้ขออนุญาตใช้ต้องมีการปลูกป่าชดเชยเท่าจำนวนไร่ที่ขอ หรือบริจาคเงินเพื่อให้ทางกรมป่าไม้เป็นผู้ปลูก งวดแรกต้องจ่ายประมาณ 25% ซึ่งต้องจ่ายให้ครบภายใน 5 ปี รวมไปถึงการก่อสร้างต้องไม่เกิน 30% ของจำนวนไรที่ขอออนุญาต หรือในกรณีแปลงที่ 2 กับแปลงที่ 3 จะมีการปลูกวัดได้ไม่เกิน 15 ไร่ต่อใบอนุญาต ซึ่งจากการตรวจสอบพื้นที่ไร่เชิญตะวันสามารถปฏิบัติตามข้อตกลงได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ กรมป่าไม้เชื่อว่า ใช้ประโยชน์ของพื้นที่ไร่เชิญตะวัน เชื่อว่าเป็นการนำพระพุทธศาสนาเข้ามาช่วยในการอนุรักษ์พื้นที่ป่าได้มากกว่าการปล่อยทิ้งไว้ ส่วนเรื่องการขยายขอบเขตพื้นที่เพิ่มเติม ในป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยปุย ไม่สามารถขยายขอบเขตเพิ่มเติมได้แล้วเนื่องจากสภาพภูมิประเทศ แต่หากมีการขอใช้งานเพิ่มเติมอื่น ๆ ในเขตป่าสงวนอื่น ๆ ก็จะดูเรื่องของเงื่อนไขและการยอมรับคนในพื้นที่ว่าเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งจะทำไปตามระเบียบก่อนการอนุมัติ