ฝึกช้างกู้ภัยแห่งแรกของโลก ให้มีทักษะในการช่วยเหลือภัยพิบัติ

วันที่ 24 ต.ค. 2567 เวลา 08:54 น.

ช้างตระกูลแสน ฝึกช้างกู้ภัยแห่งแรกของโลก เพื่อให้ช้างมีทักษะในการช่วยเหลือภัยพิบัติ กรณีที่การช่วยเหลือทางการแพทย์ยังเข้าไม่ถึง น้องช้างตื่นตัวให้ความร่วมมือในการฝึกเป็นอย่างดี พระครูอ๊อดสั่งตัดเสื้อกู้ภัย รองเท้า มีอุปกรณ์ครบ เพื่อความปลอดภัยขณะน้องปฏิบัติหน้าที่  บ้านพักช้างตระกูลแสน ดูช้างดูดอย อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพควาญช้าง และฝึกช้าง เพื่อตอบโต้ภัยพิบัติและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำ ซึ่งวันนี้ (24 ต.ค.67) เพจพระครูอ๊อด วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ แจ้งว่า ทีมช้างกู้ภัยจะฝึกเป็นวันสุดท้าย พร้อมกับทีมกู้ภัยที่เชี่ยวชาญ การกู้ภัยน้ำหลากจังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้พัฒนาหลักสูตรอบรมควาญช้างและฝึกช้างให้มีทักษะในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในกรณีจำเป็น ซึ่งช้างเป็นสัตว์ใหญ่และเป็นสัตว์ที่มีทักษะความจำและสามารถพัฒนาการเรียนรู้ในการช่วยเหลือภัยพิบัติต่าง ๆ ได้ เพจพระครูอ๊อด บอกด้วยว่า ทีมช้างกู้ภัย และช้างจะมีเสื้อกู้ภัยใส่แบบเต็มยศ ปลอดภัย มีรองเท้าใส่ มีอุปกรณ์ครบ เพื่อพร้อมสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ ขณะนี้กำลังสั่งตัด การอบรมในหลักสูตรจะมีการเน้นการฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติโดยมีการจำลองสถานการณ์ กรณีที่เกิดผู้ประสบภัยหรือประสบอุบัติเหตุทางน้ำ ซึ่งกระบวนการฝึกอบรม และหลักสูตรนี้จะเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตและลดการพิการพร้อมทั้งสามารถสนับสนุนกับทีมแพทย์ทีมพยาบาลได้อย่างทันท่วงที ภาพรวมของการฝึกอบรมในวันแรกได้มีการใช้ช้าง จำนวน 4 เชือก ได้แก่ พลายวาเลนไทน์ พลายแสนทัพ พลายงาม และพังฟ้าใส โดยการฝึกภาคปฏิบัติได้มีการนำควาญช้างใน “บ้านพักช้างตระกูลแสน ดูช้างดูดอย”  มาเข้าร่วมฝึกอบรมและได้มีการจำลองสถานการณ์พร้อมทั้งฝึกอบรมและแก้ไขสถานการณ์ไปพร้อมกันระหว่างครูฝึกกู้ชีพกู้ภัยน้ำหลาก ควาญช้าง และช้าง จากการสังเกตการณ์การปฎิบัติภารกิจในการฝึกอบรมภาคปฏิบัตินั้น น้องช้างตื่นตัวและให้ความร่วมมือในการฝึกอบรมเป็นอย่างดี อีกทั้งควาญช้างสามารถสื่อสารทำความเข้าใจกับช้างถึงวิธีและแนวทางในการช่วยเหลือ ซึ่งได้มีการฝึกฝนการนำแพนักท่องเที่ยวจากบริเวณกลางลำน้ำไปยังจุดที่ปลอดภัย และการช่วยเหลือกรณีผู้ประสบภัยอยู่ในบริเวณพื้นที่น้ำหลาก พระครูอ๊อด วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ เล่าว่า การฝึกอบรมในครั้งนี้หวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ช้างให้เป็นประโยชน์ในการช่วยเหลือช้างสามารถแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อลดอันตรายกับผู้ประสบภัยและลดการพิการและสามารถเป็นการรับช่วงต่อกรณีที่รถพยาบาลหรือการช่วยเหลือทางการแพทย์ยังเข้ามาไม่ถึง ซึ่งการจัดทีมช้างและควาญช้างในการกู้ชีพกู้ภัยนี้มีความจำเป็น และคาดว่าเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการใช้ช้างในการร่วมปฏิบัติการกู้ชีพกู้ภัยในภาวะฉุกเฉิน