รายงานพิเศษ : ชำแหละคดีรถหรูในมือ ดีเอสไอ โอกาสเรียกภาษีคืน
วันที่ 23 ต.ค. 2567 เวลา 07:14 น.
สนามข่าว 7 สี - จากคดี "ดิไอคอนกรุ๊ป" ซึ่งตำรวจยึดรถหรูได้ทั้งหมด 33 คัน อายัดไว้เพื่อสอบหาที่มาที่ไป ซึ่งปัจจุบันมีคดีรถหรูนำเข้าสำแดงเท็จอยู่ในการสอบสวนของ ดีเอสไอ จำนวนมาก และสร้างความเสียหายนับพันล้านบาท โอกาสที่ภาครัฐจะเรียกคืนเงินภาษีเป็นไปได้หรือไม่ ติดตามจากรายงานพิเศษนี้ ซากรถหรู 4 คัน เหตุเพลิงไหม้บนรถเทรลเลอร์ จากทั้งหมด 6 คัน มูลค่าความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท บนถนนมิตรภาพ จังหวัดนครราชสีมา ในปี 2556 ทำให้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เข้ามาทำคดี หลังพบว่ารถยี่ห้อลัมบอร์กินี รุ่น กัลลาร์โด สีขาว ป้ายแดง ที่ถูกเพลิงไหม้ เป็นรถที่ ดีเอสไอ กำลังติดตามเพื่อดำเนินคดี นี่จึงเป็นปฐมเหตุของการตรวจสอบคดีรถหรูนำเข้าครั้งใหญ่ในไทย และขยายผลสู่คดีอื่น ๆ ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ข้อมูลที่สนามข่าว 7 สี ตรวจสอบ พบว่า คดีรถหรูมีทั้งหมด 1,425 คัน ถูกแบ่งคดีออกเป็น 2 สาย สายหนึ่งขึ้นกับกองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค โดยส่งฟ้องอัยการคดีพิเศษ 207 คดี ยังเหลืออีก 73 คดี จากทั้งหมด 280 คดี อีกสายหนึ่งขึ้นกับสำนักงานเชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ ซึ่งมี พันตำรวจโท พเยาว์ ทองเสน อดีตรองอธิบดีดีเอสไอ เป็นหัวหน้าคณะในขณะนั้น ส่งฟ้องอัยการคดีพิเศษ 75 คดี ยังไม่เสร็จ 40 คดี จากทั้งหมด 115 คดี เท่ากับว่า จากทั้งหมด 395 คดี ยังไม่แล้วเสร็จมากถึง 113 คดี สังคมตั้งคำถามว่า จำนวนคดีที่มากกับความสูญเสียของรัฐเกือบ 10,000 ล้านบาท จะมีโอกาสเรียกคืนเงินภาษีกลับคืนได้มากน้อยแค่ไหน มุมมองของ นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ประเทศไทย เห็นว่าเป็นไปได้ยาก เพราะคนทั่วไปไม่กล้าซื้อรถหรูที่ถูกขายทอดตลาด โดยเฉพาะรถหรูที่เคยอยู่ในเครือข่ายผู้มีอิทธิพล ก่อนหน้านี้ พันตำรวจโท พเยาว์ ทองเสน อดีตรองอธิบดีดีเอสไอ ในฐานะอดีตหัวหน้าคณะสืบสวน เคยคาดว่าหากคดีสิ้นสุด กรมศุลกากร จะทวงเงินภาษีกลับเข้าภาครัฐได้ไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านบาท แต่ข้อมูลในทางลับที่สนามข่าว 7 สี ได้รับ คือ ปัจจุบันคดีทั้งหมดยังไม่ถึงที่สิ้นสุด ทำให้ไม่สามารถยึดรถขายทอดตลาดได้ อีกปัญหาหนึ่งที่คาดว่าเป็นสาเหตุทำให้คดีล่าช้า เพราะการแยกทำคดีย่อย เรื่องนี้ถูกตั้งข้อสังเกตว่า เจ้าหน้าที่อาจหวังสินบนนำจับ การนำเข้ารถหรูผิดกฎหมาย เป็นปัญหาระดับชาติที่ทำให้บ้านเมืองเสียประโยชน์ รัฐบาลในฐานะผู้นำรัฐนาวา จึงควรเข้ามาเป็นเจ้าภาพแก้ไขปัญหา เพื่อให้เกิดระบบสั่งการไปยังทุกหน่วยงานทิศทางเดียวกัน รวดเร็ว และเกิดประโยชน์สูงสุด ที่สำคัญ ประชาชนที่ซื้อรถหรูโดยสุจริตได้รับการเยียวยาเป็นธรรม