เปิดบัญชี ฝากเงินให้ผู้ต้องขังกลุ่มบอสดิไอคอน ใช้ซื้อของร้านค้าสงเคราะห์ ไม่เกินวันละ 500 บาท
วันที่ 22 ต.ค. 2567 เวลา 15:18 น.
เปิดบัญชีฝากเงินให้ผู้ต้องขังกลุ่มบอสดิไอคอน ใช้ซื้อของร้านค้าสงเคราะห์ ไม่เกินวันละ 500 บาท ฝากที่หน้าเรือนจำครั้งละไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท 22 ตุลาคม 2567 จากกรณีที่ นางกนกวรรณ จิ๋วเชื้อพันธุ์ ผอ.กองทัณฑวิทยา รักษาราชการแทน ผอ.ทัณฑสถานหญิงกลาง ในฐานะรองโฆษกกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยถึงการควบคุมตัวผู้ต้องหากลุ่มบอสดิไอคอนกรุ๊ป ว่า ผู้ต้องขังทุกคนเปิดบัญชีฝากเงินทั้งหมดแล้ว โดยญาติสามารถฝากเงินให้คงบัญชีได้ไม่เกิน 15,000 บาท หลังจากครบกำหนดกักโรค 5 วัน ตามระเบียบเรือนจำ ทนายความสามารถเข้ามาเยี่ยมเพื่อปรึกษาคดีได้ทุกวัน ไม่จำกัดเวลา ส่วนญาติเข้าเยี่ยมได้วันละ 1 ครั้ง ครั้งละ 15-20 นาที หรือจองเยี่ยมญาติออนไลน์ผ่านทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ได้เดือนละ 1 ครั้ง ทีมข่าวช่อง 7HD พามาทำความรู้จัก ระบบบริการบัญชีเงินฝากผู้ต้องขัง ที่เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคารพาณิชย์ (E-Payment) องค์ประกอบของระบบจะเชื่อมต่อกับธนาคารกรุงไทย และระบบของร้านค้าสงเคราะห์กรมราชทัณฑ์ ซึ่งจะมีช่องทางการฝากเงินคือ เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทยทุกสาขาทั่วประเทศ ตู้เอทีเอ็มธนาคารกรุงไทย และแอปพลิเคชันของธนาคาร หากฝากไม่เกิน 1,000 บาท จะไม่เสียค่าธรรมเนียม หากฝากเกิน 1,000 บาท จะเสียค่าธรรมเนียม 10 บาท บุคคลที่สามารถลงทะเบียนจัดทำบัตรฝากเงินได้ คือ 1. บิดา มารดา ภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย บุตรหรือพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับบุคคลที่ผู้ต้องขังได้ระบุให้เป็นผู้มีสิทธิในการเข้าเยี่ยม 2. ตัวแทนจากหน่วยงานราชการ เช่น สถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุล โดยหลักฐานในการจัดทำบัตรฝากเงิน ประกอบด้วย บัตรประชาชนหรือหนังสือเดินทาง กรณีผู้ต้องขังต่างชาติ สำเนาหน้าสมุดบัญชีธนาคารหรือสมุดบัญชีธนาคารเล่มจริงที่ยังสามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้ปกติ และกรณีผู้ต้องขังต่างชาติ ไม่มีญาติเป็นคนไทย ขอเอกสารหนังสือมอบหมายจากสถานทูต สถานกงสุลของผู้ต้องขังเพิ่มเติม การพัฒนาระบบการฝากเงินออนไลน์ให้แก่ญาติของผู้ต้องขัง เพื่อให้พวกเขาสามารถซื้อของใช้ที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกตามสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ สถานการณ์โรคโควิด ที่ผ่านมา ทำให้ต้องปิดเรือนจำ งดการเยี่ยมญาติ จึงต้องหาวิธีใหม่ ๆ เพื่อรับมือและใช้เทคโนโลยี ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ใครบ้างที่สามารถลงทะเบียนจัดทำบัตรฝากเงิน 1. บิดา มารดา ภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย บุตร หรือ พี่ น้อง ร่วมบิดา มารดาเดียวกัน 2. บุคคลที่ผู้ต้องขังได้ระบุให้เป็นผู้มีสิทธิ์ในการเข้าเยี่ยม 3. ตัวแทนจากหน่วยงานราชการ เช่น สถานฑูต สถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุล