รายงานพิเศษ : เปิดโปงรายชื่อ 4 บริษัท พัวพันคดีรถหรู
วันที่ 22 ต.ค. 2567 เวลา 07:14 น.
สนามข่าว 7 สี - คดีนำเข้ารถหรู สำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริง ทำให้ภาครัฐเสียหายนับพันล้านบาท จนถึงขณะนี้หลายคดียังไม่ถึงที่สิ้นสุด แต่อย่างที่ทราบกันว่าปี 2567 มีอย่างน้อย 4 บริษัท ที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลว่ามีส่วนพัวพันกับการนำเข้ารถหรู โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐเอื้อประโยชน์ให้กระทำผิด ขบวนการหลบเลี่ยงภาษีของแก๊งรถหรูนำเข้า เปรียบเสมือนมะเร็งร้ายกัดกินประเทศ เพราะทำให้ภาครัฐเสียหายนับพันล้านบาท จากการสำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริง โดยกลางปี 2567 ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด 2 สำนวน ซึ่งสาวไปถึงเจ้าหน้าที่ศุลกากร ที่มีพฤติการณ์เอื้อประโยชน์ให้ 4 บริษัทนำเข้าสำแดงเท็จ นั่นคือ บริษัท จูบิลี่ไลน์ จำกัด, บริษัท เบนซ์นครินทร์ ออโต้ กรุ๊ป จำกัด และบริษัท นิช คาร์ จำกัด ซึ่งนำเข้ารถยี่ห้อ ลัมบอร์กีนี ส่วนบริษัท เฟอร์ม่า มอเตอร์ จำกัด นำเข้ารถยี่ห้อ มาเซราติ โดยทั้ง 4 บริษัท ถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ส่งหนังสือถึงกองข้อมูลธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ขออายัด โดยระหว่างนี้ห้ามปิดบริษัท จนกว่ากระบวนการสอบสวนจะเสร็จสิ้น แหล่งข่าวจากดีเอสไอ ระบุหากครบกำหนด 6 เดือน การสอบสวนไม่แล้วเสร็จ ดีเอสไอจะทำหนังสือเพื่อขอขยายเวลาอีกครั้งหนึ่ง ขณะที่ในทางกฎหมาย เจ้าของบริษัทที่ถูกชี้มูล ยังมีสิทธิเปิดบริษัทใหม่ ตราบใดที่คดียังไม่ถึงที่สุด และส่วนใหญ่พบว่ามักกลับมาเปิดใหม่ในนามนอมินี นั่นจึงทำให้โอกาสที่ประชาชนจะตกเป็นเหยื่อมีสูง หากขาดความรอบคอบในการศึกษาข้อมูลของบริษัท ก่อนตัดสินใจซื้อ ขณะที่ต้นตอของปัญหา ทำให้เกิดการเอื้อประโยชน์สำแดงราคาต่ำกว่าความจริง พันตำรวจโท พเยาว์ ทองเสน อดีตรองอธิบดีดีเอสไอ ระบุเกิดจากเจ้าหน้าที่ศุลกากร ตรวจรับราคาไม่อิงหลักเกณฑ์ความจริง และมักอ้างว่า รถมีจำนวนมาก และไม่มีหลักฐานชัดเจน ค่อยประเมินราคาใหม่ หากพบว่าสำแดงเท็จ สุดท้ายแล้ว การแก้ปัญหาขบวนการฉ้ออากรรถหรู ต้องขับเคลื่อนทั้งองคาพยพ ตั้งแต่ระดับปฏิบัติการไปจนถึงผู้บริหารระดับสูง หากอุดรอยรั่วไม่หมด โอกาสคนตกเป็นเหยื่อมีสูง ที่คิดว่าทุ่มเงินซื้อรถหรูมาอย่างถูกต้อง แต่สุดท้ายกลับผิดกฎหมาย